วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2552

ปฏิวัติความขัดแย้ง

ปัจจุบันสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ รวมทั้งพฤติกรรมของคนในสังคม การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นธรรมดาที่จะเกิดความขัดแย้งต่างๆ มากกว่าปกติ เนื่องจากมีการปรับตัว ปรับทัศนคติ จากฝ่ายต่างๆ ทั้ง ประชาชน และหน่วยงานของรัฐในอัตราส่วนที่ไม่เท่ากัน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างมีคุณภาพก็เกิดขึ้นได้ยาก ในเมื่อหลายๆ ปัญหาต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะในการแก้ไข ดังนั้น ความซับซ้อนของปัญหาจึงเพิ่มมากขึ้น การอยู่ร่วมกันบนสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นสิ่งท้าทายต่อสังคมไทยในอนาคตเป็นอย่างมาก
จากเหตุการณ์ “การชุมนุมของประชาชน” ที่เป็นประเด็นร้อนของสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความแตกต่างทางความคิด ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกของคนไทยด้วยกันมากขึ้นทุกชั่วขณะ แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะหากย้อนรอยถึงความเป็นไปในอดีตที่ผ่านมาของวิถีทางทางการเมืองการปกครองของไทย ก็อาจเปรียบ “การชุมนุม” และ “ระบอบประชาธิปไตย” เป็นเสมือน “คู่รักคู่รส” กันก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นหนทางหนึ่งของการแสดงออก เพื่อเรียกร้องการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง หรือเป็นการทวงสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนสามารถกระทำได้โดยไม่มีความผิดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการมากที่สุด
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การชุมนุมดังกล่าวก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย จึงจะถือเป็นวิถีทางของกระบวนการทางประชาธิปไตย ที่แม้จะก่อให้เกิด “ความขัดแย้ง” ในสังคม แต่ในเชิง “ทฤษฎีความขัดแย้ง” (Conflict Theory) แล้ว ความขัดแย้งก่อให้เกิดผลทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ และความขัดแย้งยังเป็นกระบวนการที่สำคัญในการขัดเกลาสังคม และไม่มีสังคมใดที่จะมีความสมานสามัคคีอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิด และความขัดแย้งก็เป็นสภาวะหนึ่งของมนุษย์ ที่ภาวะทางอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นความเกลียดหรือความรักต่างก็มีความขัดแย้งด้วยกันทั้งสิ้น
และในมุมกลับกัน ก็มองได้ว่าการชุมนุมดังกล่าว เป็น “ปรากฏการณ์ชุมนุม” ที่มีความสุ่มเสี่ยงอันจะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ นอกจากนั้นยังเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ถึงความแตกแยกที่นับวันจะร้าวลึกลงไปเรื่อยๆ ของสังคมไทย และเป็นภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมของความขัดแย้งของประชาชน อันมีผลสืบเนื่องมาจากสิทธิเสรีภาพที่ได้รับจากระบอบประชาธิปไตย ซึ่งย่อมส่งผลถึงประเทศชาติอย่างแน่นอนในด้านภาพลักษณ์ที่มีต่อสายตาของนานาอารยะประเทศ
บางคนอาจมีทัศนะว่าคงเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรง หรือเชื่อว่าต้องปล่อยให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้จริง แต่ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า ประเทศไทยได้ผ่านพ้นความขัดแย้งในอดีตมาก็หลายครั้ง เกิดความบอบช้ำของสังคมไทยมาก็หลายหน และทุกๆ ความขัดแย้งจะยุติลงได้ด้วยพระเมตตาขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ “พ่อของแผ่นดิน” ที่ทรงเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยให้คู่กรณี หรือลูกๆ เลิกทะเลาะและหันหน้าเข้าหากัน ถึงแม้สาเหตุของความขัดแย้งจะไม่ได้รับการแก้ไข แต่ก็ส่งผลให้สันติสุขกลับคืนมาสู่บ้านหลังใหญ่ของชาวไทยในทุกๆ ครั้ง และจากประสบการณ์การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้สังคมไทยได้เรียนรู้มากขึ้นว่า ถ้าเราใช้ปัญญาให้มากขึ้น และมุ่งมั่นที่จะทำสันติวิธีให้เป็นยุทธศาสตร์ของชาติ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การปรับหางเสือของสังคมไทย และนี่แหละที่จะเป็นหน้าเป็นตาของชาติไทย "หน้าตา"ของชาติไทย ไม่ใช่ตึกสูงงดงาม หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยหากแต่อยู่ที่ คนไทยและสังคมไทย ที่เผชิญกับความขัดแย้ง โดยที่คู่กรณีเริ่มต้นแก้ไขความขัดแย้งด้วยการเข้าใจซึ่งกันและกัน ดังที่ Arthur Gladstone กล่าวไว้ว่า “แทนที่จะปรักปรำความผิดกัน แต่หันมารับผิดชอบร่วมกันเสีย” ก็จะสามารถขจัดปัญหาความขัดแย้งให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยได้
และหากทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่ล้วนแล้วแต่เป็น “คนไทย” ด้วยกันทั้งสิ้น เห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมืองกันอย่างแท้จริง ก็ไม่ควรปล่อยให้ความรู้สึกส่วนตัวมาชี้นำ ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม และต้องรู้ว่าอะไรควรและอะไรไม่ควรกระทำต่อประเทศชาติ สังคมไทยก็จะสามารถผ่านพ้นช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ไปได้ โดยไม่บอบช้ำ หรือเกิดความเจ็บปวดแก่สังคมมากจนเกินไป อย่างเช่น ที่เคยเกิดกับสังคมอื่นที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ในอดีต หรือที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับเรา
จึงถึงเวลาแล้ว ที่ชาวไทยทุกคนจะต้องหันหน้าเข้าหากัน และร่วมกันแก้ไขปัญหาของประเทศชาติให้ลุล่วง รวมทั้งร่วมกันทำให้ประโยคที่พูดกันจนชินหูว่า “รักพ่ออย่าทะเลาะกัน” ให้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแค่เพียงลมที่เป่าออกมาจากปากของแต่ละคน
และจะไม่มีสิ่งใดจะมาแผ้วพลาญชาติไทยได้ หากชาวไทยทุกคนสำนึกใน “รู้รัก สามัคคี ทำความดีเพื่อแผ่นดิน” ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราชาวไทยทุกคนจะต้องร่วมใจกัน ปฏิวัติความขัดแย้ง และถอนรากเหง้าของความรุนแรง ให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย เพื่อสันติสุข เพื่อความศิวิไล ของชาติไทย...กันเสียที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น