วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2552

จากยุทธศาสตร์พระราชทาน สู่งบประมาณชีวิต

จากพระปณิธานที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” ซึ่งได้ทรงแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมต่อสังคมไทยตลอดมา ประชาชนไทยทุกคนล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณถ้วนทั่วหน้า จากการได้อาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินไทยอย่างร่มเย็นผาสุข และที่สำคัญ คือ ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกระดับ อันเป็นวิถีแห่งการดำรงอยู่ที่ประเสริฐสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย นำไปสู่ที่มาของแนวคิดและแนวปฏิบัติอันเป็นที่รับทราบกันดีในประเทศหรือแม้กระทั่งในระดับนานาชาติ ในนาม ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy)
พระปรีชาญาณดังกล่าว ได้รับการถวายพระเกียรติอย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะจากองค์กรหลักของโลก คือ สหประชาชาติ ได้ร่วมถวายพระเกียรติอย่างชัดเจนในฐานะที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนับเป็นแนวทางที่นำสู่การพัฒนาที่แท้จริงที่สุด คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นั่นเอง
จากสาระของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เผยแพร่ได้ในปี พ.ศ.2542 แล้วนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2547) ได้สรุปออกมาเป็น 3คุณลักษณะ (ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว) 2 เงื่อนไข (คุณธรรม และความรู้) และ 3 เป้าหมาย (สมดุล มั่นคง ยั่งยืน)
โดยนัยแห่งความสัมพันธ์ของทุกองค์ประกอบในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ทุกองค์ประกอบสามารถที่จะแสดงความเชื่อมโยงกันได้ และเป็นกรอบปรัชญาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็น แนวทางดำรงอยู่แนวปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึง ความจำเป็นที่จะต้อง มีระบบคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัสเพิ่มเติมในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะน้อมเกล้าฯ นำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้พอสังเขป ดังนี้
“...คำว่าพอเพียงมีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอใช้สำหรับใช้ของตัวเอง มีความหมายว่าพอมีพอกิน...พอมีพอกินนี้ ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง...”
“...ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ก็ทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำสมควรที่จะปฏิบัติ...”
“...Self-sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง...”
“...คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข...”
โดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ “การปลูกผักกินหญ้า” แต่เป็นแนวทางของประเทศ และผู้คนที่จะคิดหาหนทางสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ โดยสามารถนำไปสานต่อการลงทุนที่ชาญฉลาด เพื่อพัฒนาประเทศที่มั่นคงยั่งยืน ให้รอดพ้นจากภัย และวิกฤติ นอกจากนี้ ปรัญชาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ปฏิเสธการเป็นหนี้สิน การกู้ยืมเงิน แต่เน้นการบริหารความเสี่ยง คือ แม้ว่าจะกู้ยืมเงินมาลงทุน ก็เพื่อดำเนินกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากจนเกินไป แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ห้ามไม่ให้ลงทุนหรือขยายธุรกิจ แต่เน้นให้ทำธุรกิจที่ไม่ให้เสี่ยงมากเกินไปควรลงทุนให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง
จากที่กล่าวมาข้างต้น เราทุกคนสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเปรียบประดุจ ยุทธศาสตร์พระราชทาน ที่มอบให้กับประชาชนชาวไทยทั้งแผ่นดิน มาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดมงคลแก่ตัว และความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนในครัวเรือน อันเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศไทย โดยมุ่งกระทำในสิ่งต่อไปนี้
ความพอประมาณ (ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไปหรือไม่มากเกินไป)
1. ยึดหลักประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในทุกด้าน ลด ละ ความฟุ่มเฟื่อยในการดำรงชีวิต
2. ประหยัดพลังงานในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้กระแสไฟฟ้าภายในบ้าน และการใช้น้ำมัน
3. ควบคุมค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง หรือของฟุ่มเฟือยทั้งหลายตัดได้ตัดเลยพยายามทำให้มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
4. จับจ่ายใช้จ่ายอย่างประหยัด บริโภคให้น้อยลงและซื้อเท่าที่จำเป็นเพราะราคาสินค้ามีโอกาสแพงขึ้นตามต้นทุนการผลิต
ความมีเหตุผล (การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียง)
1. ระมัดระวังการใช้บัตรเครดิต เพราะบัตรเครดิต คือ บัตรที่ ให้ใช้ก่อน จ่ายทีหลัง สร้างความสะดวกสบายให้คนใช้ก็จริงอยู่ แต่ความสะดวกสบายมักตามมาด้วยหนี้ก้อนโต ที่มักเกิดขึ้นง่ายที่สุดหากใช้บัตรเครดิตอย่างขาดสติ
2. หยุดสร้างภาระหนี้เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีหนี้ก้อนเก่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ สินเชื่อบุคคล ยิ่งต้องหยุดสร้างหนี้เพิ่มอย่างเด็ดขาด
3. หมั่นบันทึกและทบทวนรายรับรายจ่าย เพื่อจะได้รู้สถานการณ์อยู่ตลอดเวลานี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้การบริหารงบประมาณรายรับรายจ่ายได้อย่างแม่นยำและนำไปสู่การวางแผนการเงินที่ดีได้
การมีภูมิคุ้มกัน (การเตรียมตัวให้พร้อมรับกับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ)
1. พยายามหาช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเพราะหนึ่งในหนทางในการรับมือกับภาวะสินค้ามีราคาแพงขึ้น ไม่เพียงคุมค่าใช้จ่ายด้านเดียว ในเวลาเดียวกันต้องมองหาช่องทางการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินไปลงทุนในช่องทางต่างๆ หรือการหารายได้เสริมจากงานพิเศษ
2. การออม ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่จะทำให้บุคคลหนึ่งบรรลุถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ในอนาคต ทั้งในรูปแบบของประกันชีวิต การฝากเงินไว้กับธนาคาร และการออมในรูปแบบอื่นๆ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิตในระยะยาว
3. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลด ละ สิ่งชั่วร้ายให้หมดสิ้นไป
4. ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ให้ยั่งยืน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับทั้งประเทศ และลูกหลานของเรา อาทิ การปลูกต้นไม้ เพื่อลดภาวะโลกร้อน การแสวงหาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ เช่นพลังงานจากไบโอดีเซล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น ซึ่งต้องรีบดำเนินการ เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา
เงื่อนไขความรู้ (รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตตนเองหลุดพ้นจากความทุกข์ โดยขวนขวายหาความรู้ ในแขนงต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิดรายได้เพิ่มพูนจนถึงขั้นพอเพียง
เงื่อนไขคุณธรรม (ซื่อสัตย์สุจริต สติปัญญา ขยันอดทน แบ่งปัน) ประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพ ลดละเลิก การแก่งแย่งผลประโยชน์ที่รุนแรงและไม่ถูกต้อง คำนึงถึงการแบ่งปันและการช่วยเหลือสังคม นอกเหนือจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราในฐานะเครือญาติ
และหากทุกครัวเรือนสามารถกระทำในสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นโดย ดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จะเกิดผลและนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขของคนไทย คือ
1.การดำรงชีวิตที่สมดุลมีความสุขตามอัตภาพ
2.การพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองและประเทศชาติมั่นคง
3.การอยู่ร่วมกันในสังคมเกิดวามเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
4. ความสมดุลของทรัพยากรทางธรรมชาติ
นอกเหนือจากนั้น ยังเป็นการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่พึ่งปรารถนา ดังต่อไปนี้
สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน เป็นสังคมที่มองเห็นความทุกข์และความสุขของคนอื่นร่วมกัน มีความเอื้ออาทร ไม่นิ่งดูดายเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์
สังคมที่เข้มแข็ง เป็นสังคมที่มีชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ถาคประชาสังคมเข้มแข็ง ตามลักษณะของภูมินิเวศ และกลุ่มคน
สังคมคุณธรรม เป็นสังคมที่เป็นปึกแผ่น ร่วมเย็นเป็นสุข โดยการใช้ศาสนธรรมมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำในชุมชน แม้จะมีความแตกต่างกันของการนับถือศาสนา แต่ก็เคารพคุณค่าระหว่างกัน มีความเข้าใจกันระหว่างศาสนา และหลีกหนีออกจากวัตถุนิยม
สังคมประชาธิปไตย เป็นสังคมที่ประชาชนมีส่วนในการกำหนดกลไกต่างๆ ทางสังคม มีความเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่รูปธรรมหรือตามกฏหมาย แต่ประชาชนต้องเป็นผู้มีบทบาทในเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่กำหนดว่าให้มีการเลือกตั้งแล้วบอกว่า นี่แหละประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะการเลือกตั้งเป็นแค่กระบวนการส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ไม่ใช่สาระสำคัญเหนือกว่าการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย
ทั้งหมดนี้ จะเป็นปฏิบัติบูชาที่มีคุณค่ายิ่งต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีสิ่งอื่นใดจะยิ่งใหญ่กว่านี้อีกแล้ว หากเราช่วยกันขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้สังคมทุกภาคส่วนได้นำไปใช้ จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง และประเทศชาติในระยะยาวอย่างยั่งยืนสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น