วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2552

มายาภาพความขัดแย้งในสังคมไทย

จากสถานการณ์ทางการเมือง ปัญหาบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ทำให้หลายต่อหลายคนคงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประเทศเดินหน้าไปได้ยากเพราะไม่รู้ว่าความวุ่นวายต่างๆจะจบลงเมื่อไหร่ ถ้ามองดูโดยภาพรวมจะพบว่าสถานการณ์กำลังย้อนกลับมาสู่จุดเดิม หมายความว่า ความขัดแย้ง 2 ขั้ว ที่เกิดขึ้นในขณะนี้คล้ายกับสถานการณ์ก่อนที่จะมีการรัฐประหารเมื่อปี 2549 คือ มีการแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว
กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังเหมือนเดิมอยู่ มีความตั้งใจเช่นเดิม จะเห็นว่าเครื่องมือที่เขาใช้ในการโจมตีก็คือเอาเรื่องความจงรักภักดี เอาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการกล่าวหาว่าอีกฝ่ายไม่จงรักภักดียังคงใช้เครื่องมือเหล่านี้เป็นวัตถุที่สำคัญ ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากๆ ต่อความรู้สึกในเรื่องสถาบันของคนส่วนใหญ่ภายในประเทศ
ถ้าวิเคราะห์สถานการณ์ตามแนวความคิดสำคัญของ Marx ในสาระความคิดเกี่ยวกับความขัดแย้ง เรื่องการขัดแย้งเชิงปฏิวัติระหว่างชนชั้นและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความขัดแย้งจะมีลักษณะเป็นสองหลัก (bipolar) ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางสังคมจะแสดงออกถึงความขัดแย้งอยู่ในตัว ดังนั้นการขัดแย้งจึงเป็นลักษณะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการขัดแย้งกันเช่นนั้นมักแสดงออกมาเป็นความสนใจที่ตรงข้ามกันของคนสองพวก ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ “อำนาจ” และท้ายที่สุดการขัดแย้งยังเป็นสิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในระบบสังคม (สัญญา สัญญาวิวัฒน์, 2550, น. 72-76)
การวิเคราะห์ทำความเข้าใจแนวคิดในสังคมไทยนั้นน่าจะมี 2 ขั้วหรือ 2 แนวทาง ซึ่งเป็นเพียงความขัดแย้งของพวกนิยมระบอบทักษิณ และต่อต้านความคิดของระบอบที่เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น ถ้าสร้างมุมมองและความเข้าใจให้ชัดเจนมากขึ้น น่าจะกล่าวได้ว่า “ความขัดแย้งในทฤษฎี 2 ขั้ว ย่อมปรากฏและมีอยู่จริง นี่เป็นสิ่งที่ไม่อาจกล่าวปฏิเสธได้เลย แต่ในท่ามกลางสถานการณ์ที่มีอยู่เช่นนี้ของปฏิปักษ์ 2 ขั้ว ก็ยังมีสภาวะของการครอบงำเป็นบรรยากาศเกี่ยวกับแนวคิดทางประชาธิปไตยแทรกซ้อนอยู่ด้วยก็ได้ และอาจคาดหมายได้ว่า เมื่อสถานการณ์ดำเนินคืบคลานไปถึงจุดหนึ่ง สภาวะขับเคลื่อนและโต้แย้งทางแนวคิดนี้มีโอกาสที่จะพลิกขึ้นมาเป็นปัญหาความขัดแย้งหลักในสังคมไทย
แนวทางอีกลักษณะหนึ่งที่ยืนพื้นและเป็นกระแสหลักต่อสู้ขับเคี่ยวกันอยู่ก็คงได้แก่ ประชาธิปไตยในลักษณะความหมายของ อำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic polity) นี่เป็นแนวคิดที่มีศักยภาพสูงตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.51 ทางฝ่ายรัฐบาลก็พยายามที่จะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความชอบธรรมในเรื่องของหลักประชาธิปไตย การเลือกตั้งต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนภายในประเทศจากความขัดแย้งดังกล่าว ถ้าชนชั้นใดมีอำนาจและได้ตระหนักถึงผลประโยชน์แท้จริงของตนแล้ว การขัดแย้งอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้น (สัญญา สัญญาวิวัฒน์, 2550, น. 82-109) โดยมีพื้นฐานมาจากสภาพความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องในเรื่องของ “อำนาจและผลประโยชน์”
หากพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า ความวุ่นวายรวมถึงขั้นความชิงชังน่าจะมาจากเจ้าสิ่งที่เรียกว่า “สมมติ” นี่เอง
อีกเรื่องที่มนุษย์ยึดติดสมมติคือ “สีเสื้อ” สังคมไทยเวลานี้มีการแบ่งแยก แบ่งเขาแบ่งเรา โดยเอาสีเสื้อหรือสัญลักษณ์อะไรก็แล้วแต่มาเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ยิ่งกว่านั้น บางกลุ่มยังออกมาปราศรัยว่า ต่อไปนี้คนไทยจะอยู่กลางๆ คนเยอรมันเขา “ทุบทำลายกำแพงเบอร์ลิน” เพราะเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งคนออกเป็นสองประเทศ แต่คนไทยกำลังก่อ “กำแพง” แบ่งคนไทยด้วยกันเอง โดยการสร้างกำแพงคุณธรรมกำแพงรักชาติ กำแพงจงรักภักดี ฯลฯ ขึ้นมาเองทั้งสิ้น ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่มีใครทราบว่าใครดีกว่ากัน ใครรักชาติกว่ากัน
มีอีกหลายต่อหลายเรื่องที่มนุษย์สมมติหรืออุปโลกน์กันขึ้นมาเองแล้วมนุษย์ก็บูชาคลั่งไคล้กันเต็มที่ หนักเข้าฆ่ากันตายก็มีกันให้เห็นกันมากมายในอดีต ที่ต่างประเทศก็มีกันให้เห็น สังคมไทยเวลานี้เป็นสังคมที่ใช้สติปัญญาน้อย ใช้กระแส ใช้วาทกรรม ใช้ Motto ฯลฯ กันเยอะมาก ผู้เขียนเข้าใจเองว่าน่าจะเป็นผลมาจากการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ทำให้มีผลลบต่อการรับรู้ (perception) การใช้สติปัญญา การตั้งคำถาม การสงสัยในเรื่องต่างๆ ของคนในสังคม แต่เอาความศรัทธา ความเชื่อ ภาพลักษณ์ มาเป็นสรณะแทน
ทุกวันนี้ การใช้ความรุนแรงในหมู่คนไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากสื่อต่างๆ ที่ถ่ายทอดหรือนำเสนอภาพความรุนแรงที่ใช้จัดการกับคู่กรณีตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล ชุมชน ครอบครัวหรือระดับประเทศ จึงเกิดคำถามขึ้นมากมายว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย? ทำไมเราจึงนิยมเลือกใช้ความรุนแรงกัน? อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเห็นความรุนแรงเป็นเครื่องมือ? เรานิ่งเฉยต่อความรุนแรงที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาเราได้อย่างไร? เหยื่อความรุนแรงที่ล้มหายตายจากไปหรือถูกทำให้หายไปจากสังคมนั้นไม่ใช่มนุษย์เหมือนกับเราหรือ? อะไรกันที่ทำให้ผู้คนอยู่กับความรุนแรงได้อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว? หรือว่าความรุนแรงในฐานะที่เป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมไทยไปเสียแล้ว ?
อีกปัญหาหนึ่ง คือ ความยึดมั่นถือมั่นใน "ตัวเรา" "ตัวเขา" "ของเรา" "ของเขา" นั้น ท่าน ติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนามเห็นว่า เป็นการทำให้มนุษย์ขาดความสามารถที่จะมองเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นเกิดความ "ไม่พยายาม" ที่จะเข้าใจผู้อื่น และไม่เปิดใจกว้างยอมรับซึ่งกันและกัน จนตกเป็นเหยื่อของลัทธิความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งได้อย่างง่ายดาย
ท่านกฤษณะมูรติ นักปราชญ์อินเดีย มองว่า การที่มนุษย์เข้าใจว่าตนสามารถแยกตนและตัดขาดจากมนุษย์และสิ่งอื่นๆ นั้น ถือเป็นความรุนแรงด้วยตัวของมันเอง ซึ่งเหตุที่การแยก "เรา-เขา" เกิดขึ้นได้ ก็เนื่องจากมนุษย์ได้สร้าง "เอกลักษณ์" ขึ้นมาเป็นชุดๆ ภายใต้มายาการแห่ง "เอกลักษณ์” และแล้ว มนุษย์จึงสามารถใช้ความรุนแรงต่อ "ผู้อื่น" ได้ไม่ยากหากเกิดความขัดแย้งขึ้น
และเมื่อนำเอาหลักทฤษฎีความขัดแย้ง มาอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหา ความเป็นมาว่าแท้จริงแล้ว มูลเหตุของความขัดแย้งมิใช่ประเด็นใหม่เลย เพียงแต่ปรับเปลี่ยนบริบททางการเมือง โดยนำเอาปัญหาที่ละเอียดอ่อน อ่อนไหวต่อความรู้สึกนึกคิดรวมทั้งปัญหาการปลุกระดมกระแสชาตินิยม ซึ่งเหล่านี้ หรือกรณีดังกล่าวได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสังคมไทยเรา และอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าบทสรุปของปัญหาเหล่านี้จะมีจุดจบอย่างไร
และในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งมิต้องการให้ประเทศชาติล่มสลาย หรือการเกิดความร้าวฉานในประเทศชาติจนไม่สามารถประคับประคองตนเองได้ แล้วความเป็นรัฐชาติไทยเราจะเหลืออะไร จะก้าวไปในทิศทางไฉน ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยเราจะไม่รุนแรงถึงขั้นนองเลือดเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพียงเพราะเราทุกคนเข้าใจในบทบาท หน้าที่ของพลเมืองที่ดี มีความสามัคคีกันเพื่อที่จะฟันฝ่าอุปสรรคที่มีให้ประเทศชาติมีความเจริญรุดหน้า เทียบเท่านานาอารยะประเทศ
และเราชาวไทยทั้งหลาย ควรช่วยกันพัฒนาความสามารถในการมองให้เห็นถึงธรรมชาติที่แท้ของสรรพสิ่ง โดยเริ่มจากการพัฒนาความสามารถในการเห็น และเข้าใจ ถึงความเป็นมนุษย์ของทุกคนที่มีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน แล้วจึงแผ่ขยายลึกซึ้งไปถึงสรรพสัตว์และธรรมชาติ เพื่อที่ในที่สุดความเมตตาและความรักจักผลิบานขึ้นในจิตใจของเรา และเราจะตระหนักได้ว่า ผู้ที่เรากล่าวกันว่าเป็นศัตรูนั้น แท้จริงมิใช่ศัตรู ทั้งหมดเป็นเพียงมายาหรือภาพลวงตา ที่เกิดจากความงมงายของเราต่อลัทธิใดลัทธิหนึ่งเท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น