วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555


ธรรมะกับชีวิต
พันเอก ดร. ภูมิรัตน์  ลือศิริ

ธรรมะ คืออะไร หลายท่านคงทราบความหมายดีแล้ว แต่อีกหลายๆ ท่านก็คงจะยังไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของ “ธรรมะท่านพุทธทาสภิกขุ ได้จำแนกความหมายของธรรมไว้ 4 ประการ ได้แก่  1. ธรรมะ คือหน้าที่และการปฏิบัติตามหน้าที่ 2. ธรรมะ คือผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามหน้าที่ 3. ธรรมะ คือความจริงที่ปรากฏหรือกฎธรรมชาติ และ 4. ธรรมะ คือธรรมชาติทั้งปวง สอดคล้องกับคำสอนของ พระพุทธโฆษาจารย์ ที่ได้ให้ความหมายธรรมะไว้ 4 ประการคือ 1. ความประพฤติที่ดีงาม 2. คำสั่งสอน คำแนะนำทางศีลทางธรรม 3. ลักษณะคำสอนของพระพุทธเจ้า 4. กฎแห่งเอกภพที่มิใช่สัตว์ มิใช่บุคคล หรือ                 กฎธรรมชาติ” โดย พระธรรมปิฎก ได้กล่าวถึงความหมายของพระธรรมไว้ว่า “พระธรรม” คือ ความจริงของสิ่งทั้งหลายหรือธรรมชาติทั้งหมด รวมทั้งโลกและชีวิตของเรา ซึ่งมนุษย์จะต้องรู้ เข้าใจ และดำเนินชีวิตให้ประสานสอดคล้องถูกต้องตามนั้น เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นสุขแท้จริง จึงสรุปรวมความได้ว่า “ธรรมะ” หมายถึง ระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่โดยตัวของมันเองในธรรมชาติ หรือเป็น “กฎของธรรมชาติ” ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเพียงผู้ค้นพบ ปฏิบัติ จนเกิดผลที่ต้องการแล้วประกาศให้คนอื่นรู้ เมื่อคนอื่นรู้แล้วปฏิบัติตามก็เกิดผลอย่างเดียวกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า “ธรรมะ” คือ “คำสั่ง” และ “คำสอน” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อพัฒนาจิตใจของมนุษย์ให้พบกับความสงบสุขอย่างแท้จริงตามกฎของธรรมชาติ
ซึ่ง “คำสั่ง” หรือข้อห้ามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เมตตาประทานให้แก่มนุษย์ ได้แก่ “ศีลซึ่งเป็นข้อปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงามมีความปกติสุข โดยพระราชพรหมญาณ หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ได้เมตตาสั่งสอนบรรดาพุทธศาสนิกชนว่า “ศีล” แปลว่า ปกติ โดยบุคคลผู้มี “ศีลถือว่าเป็น “คนปกติ” ซึ่งเมื่อพิจารณาคำสอนดังกล่าวกับศีลของฆารวาส คือศีล 5 ก็จะพบความจริงที่ว่า ศีลข้อที่ 1 ปาณาติปาตา เวรมณี (ไม่ใจร้าย) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนอื่นมาทำอันตรายต่อชีวิตของตน ศีลข้อที่ 2 อาทินนาทานา เวรมณี (ไม่มือไว) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนอื่นมาเอาทรัพย์สินของตนไปครอบครอง ศีลข้อที่ 3 กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี (ไม่ใจเร็ว) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนอื่นมากระทำกาเมบุคคลในปกครองของตนเอง ศีลข้อที่ 4 มุสาวาทา เวรมณี (ไม่พูดปด) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนอื่นมาพูดปดหลอกลวงตนเอง และศีลข้อที่ 5 สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานา เวรมณี (ไม่หมดสติ) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนวิกลจริตมารังควานตนเอง ดังนั้น เมื่อ “ศีล” เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามไม่ต้องการให้คนอื่นมากระทำมิดีมิร้ายต่อตน ทรัพย์สินของตน และบุคคลในปกครองของตน มนุษย์จึงควรยึดมั่นใน “ศีล” ที่จะไม่ไปกระทำผิดทั้งทางกาย วาจา และใจ ต่อผู้อื่นด้วย
 ศีล” จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปกติในตนเอง ถือเป็นหลักธรรมที่จะทำคนให้เป็น “คนปกติ” อันจะยังผลให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข เกิดศานติสุข ไม่มีเวรภัยต่อกันและกัน ทั้งในครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลก ดังพระบาลีที่กล่าวไว้ว่า
กาเยน วาจาย จ โยธ สญฺญโตมนสา จ กิญฺจิ น กโรติ ปาปํ น อตฺตเหตุ อลิกํ ภณาติ ตถาวิธํ สีลวนฺติ วทนฺติ” แปลความได้ว่า “ผู้ใดสำรวมในโลกนี้ สำรวมทางกาย วาจาและใจ ไม่ทำบาปอะไรๆ และไม่พูดพล่อย เพราะเหตุแห่งตน ท่านย่อมเรียกคนเช่นนั้นว่า ผู้มีศีล

บทบาททหารกับความมั่นคงของมนุษย์

แนวคิดเรื่อง “ความมั่นคง” เป็นสิ่งที่มีการตีความอย่างแคบๆ มาเป็นเวลานานมาก จากการมองว่าเป็นความมั่นคงปลอดภัยของเขตแดนจากการรุกรานจากภายนอก หรือเป็นการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติในนโยบายระหว่างประเทศ หรือเป็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของโลกจากการคุกคามของอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอำนาจทำลายล้าง โดยจะเห็นได้ว่าความมั่นคงปลอดภัยในที่นี้ เป็นเรื่องของ “รัฐชาติ” มากกว่าที่จะเกี่ยวข้องกับ “ประชาชน” โดยมีอดีตที่เกิดจากประเทศมหาอำนาจติดพันกับการต่อสู้กันทางอุดมการณ์ทางการเมืองและทำสงครามเย็นไปทั่วโลก ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาก็อ่อนไหวต่อการคุกคามทั้งที่เกิดขึ้นจริงและที่คาดการณ์ได้ต่อเอกลักษณ์ของชาติอันเปราะบาง สิ่งที่ถูกลืมไป คือ ความห่วงใยที่ชอบธรรมต่อประชาชนธรรมดาๆ ที่พยายามหาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตประจำวันของตน สำหรับประชาชนแล้ว ความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยของตนเองนั้น มักจะเกิดจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน มากกว่าความน่าสะพรึงกลัวของเหตุการณ์หายนะครั้งใหญ่ในโลก เช่น วันนี้ครอบครัวของเราจะมีอาหารรับประทานพอไหม จะตกงานหรือเปล่า จะปลอดภัยจากอาชญากรรมหรือไม่ จะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงหรือไม่ ดังนั้น ความมั่นคงของมนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการสู้รบ แต่เป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์
ดังนั้น องค์การสหประชาชาติ (The United Nations) จึงได้นำแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) มาเป็นวาระของโลก ซึ่งถูกกล่าวถึงในรายงาน "การพัฒนามนุษย์ ค.ศ. 1994" ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program :UNDP) โดยมีเป้าหมายที่สำคัญเกี่ยวกับมนุษย์ 2 ประการ คือ 1) มนุษย์ทุกคนจะต้องปลอดจากความกลัว (Freedom From Fear) 2) ปลอดจากความขาดแคลนหรือความต้องการ (Freedom From Want) ซึ่งนับเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดความมั่นคงของชาติ อันประกอบด้วยรัฐและดินแดนมาเป็นความมั่นคงของประชาชนในฐานะองค์กรประกอบพื้นฐานของชาติ[1] โดยถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centered)
โดย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program :UNDP) ได้กำหนดความมั่นคงของมนุษย์ไว้ 7 ประการ ได้แก่[2] 1) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (ประชาชนมีรายได้พอเพียงแก่การยังชี) (2) ความมั่นคงด้านอาหาร (ประชาชนสามารถหาอาหารมาเลี้ยงชีพได้อย่างเพียงพอ จากรายได้ที่เกิดขึ้น หรือจากทรัพย์สินที่มีอยู่) (3) สุขภาพการรักษาความปลอดภัย (ประชาชนมีสุขภาพดี ปลอดจากโรคติดต่อต่างๆ และความเจ็บไข้ได้ป่วยอื่นๆ) (4) การรักษาความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม (ความสมบูรณ์ของทรัพยากรบนแผ่นดิน ในอากาศและในแหล่งน้ำ ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถสร้างถิ่นฐานอยู่ได้อย่างยั่งยืน) (5) ความปลอดภัยส่วนบุคคล (ความปลอดภัยจากสิ่งต่างๆ เช่น ภัยจากสงคราม ยาเสพติด) (6) การรักษาความปลอดภัยชุมชน (ความอยู่รอดของวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์) และ (7) ความมั่นคงทางการเมือง (สิทธิทางการเมืองและเสรีภาพทีปราศจากการกดขี่ทางการเมือง) ทั้งนี้ กลุ่มประเทศในอาเซียน ก็ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาจัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกันตามสนธิสัญญาในกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ในการจัดตั้งเป็นประชาคมอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) โดยมีความมุ่งหมายสำคัญที่เรียกว่า 3 เสาหลัก คือ เสาประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน เสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
ครั้นมองย้อนไปถึงปัญหาความมั่นคงของมนุษย์แล้ว 'อมาตยา เซน'[3] นักเศรษฐศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบล ได้ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า “ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์เป็นปัญหาเก่าแก่ หากย้อนกลับไปสมัยพุทธกาลเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว พระพุทธเจ้าต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่มวลมนุษยชาติ ซึ่งความมั่นคงดังกล่าว คือ ความมั่นคงทางจิตใจ พระองค์เห็นความทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บตายจึงพยายามหาเหตุแห่งทุกข์ดังกล่าว จึงพยายามค้นหาทางดับทุกข์ดังกล่าว การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า การเผยแพร่ธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้นเป็นการสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานของความมั่นคงในระดับจิตใจ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เข้าใจรากเหง้าของสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ และคำสอนดังกล่าวยังสามารถปรับใช้กับสภาวการณ์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ซึ่งในประเทศไทย บุคคลที่ต่อสู้และกระทำสงครามกับความไม่มั่นคงของมนุษย์ ก็เห็นจะมีแต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตั้งพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ ที่จะสร้างให้เกิดความมั่นคงในชีวิตของพสกนิกรชาวไทยทั่วทั้งประเทศ โดยได้พระราชทานแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งทรงมีพระราชจริยาวัตรที่เป็นแบบอย่างในความพอเพียงให้เห็นเป็นต้นแบบ จนทำให้ผู้นำหลายต่อหลายประเทศน้อมนำไปเป็นแบบอย่าง อาทิ ประเทศภูฐาน เป็นต้น
จากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระองค์ กองทัพบก โดยผู้บัญชาการทหารบก ในหลายยุคหลายสมัย ก็ได้น้อมนำพระราชปณิธานดังกล่าว มาสานต่อจนเกิดเป็นโครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงในชีวิต รวมทั้งได้นำปรัชญาที่ได้ทรงพระราชทานให้คนไทยทุกหมู่เหล่า ไปช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ประเทศติมอร์ตะวันออก ประเทศซูดาน และอีกหลายๆ ประเทศที่กองทัพบกมีภารกิจเข้าไปช่วยเหลือในภารกิจการรักษาสันติภาพ จนประเทศดังกล่าวมีความเจริญก้าวหน้าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ซึ่งเมื่อกล่าวถึงภารกิจของกองทัพบก ที่กำหนดพันธกิจหลัก 2 ประการ คือ การเตรียมกำลัง และการใช้กำลัง เพื่อป้องกันราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศ การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาติ การรักษาความมั่นคงภายใน การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การช่วยพัฒนาประเทศ ตลอดจนการสนับสนุนรัฐบาลและประชาชนในการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติในรูปแบบต่างๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า กองทัพบก เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจ เพื่อสร้างให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์ ไม่เพียงแค่ประชาชนชาวไทยเท่านั้น ยังได้เผื่อแผ่ไปยังมิตรประเทศอีกด้วย ทั้งการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร เพื่อสร้างให้เกิดความเสมอภาคทางเศรษฐกิจครัวเรือน และเป็นภูมิคุ้มกันด้านอาหาร รวมทั้งเป็นแหล่งยารักษาโรคเพื่อการป้องกันสุขภาวะโดยรวมของประชาชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้ประชาชนในภูมิภาคต่างๆ รู้คุณค่าของธรรมชาติ และสามารถดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุล ตลอดจนยังได้ส่งเสริมความปลอดภัยของประชาชนจากโรคภัยไข้เจ็บ และพิษภัยของยาเสพติด ทั้งการป้องกัน ปราบปราม รวมทั้งการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความปลอดภัยในถิ่นฐานบ้านเกิดและชุมชนที่อยู่อาศัย ให้ปราศจากภัยคุกคามต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ด้วยการเข้าร่วมเป็นกำลังประชาชนหรือมวลชนกับ กองทัพบก เพื่อความมั่นคงในชีวิตของประชาชนทุกๆ คน ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าแสดงออกในด้านสิทธิทางการเมือง อย่างมีศักดิ์ศรีที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย ภายใต้พระบรมโพธิสมภารขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นั้นคือสิ่งที่ กองทัพบก ได้น้อมนำพระราชปณิธานขององค์จอมทัพไทย มาปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย เพื่อให้ปลอดจากความขาดแคลนหรือความต้องการ (Freedom From Want) นอกจากนี้ กองทัพบก ยังได้ช่วยเหลือประชาชนให้พ้นทุกข์และปลอดจากความกลัว (Freedom From Fear) จากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมของโลก ซึ่งการดำเนินการที่ กองทัพบก ได้กระทำมานั้น หากวิเคราะห์ดูจากวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของมนุษย์ของ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program :UNDP) ก็จะพบว่าสามารถดำเนินการได้ครบทั้ง 7 ประการ ซึ่งนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการสร้างให้เกิด ความมั่นคงของมนุษย์ทางกายภาพ
ส่วน ความมั่นคงของมนุษย์ทางจิตใจ ในทัศนะของ อมาตยา เซน แล้ว กองทัพบก ยังได้ดำเนินการพัฒนาจิตสำนึกแห่งความจงรักภักดี ความรัก สามัคคี ให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนไทย เพื่อปลุกให้ตื่นจากการหลับใหล และการตกอยู่ในวังวนแห่งความมืดดำของอวิชชาหรือความหลงผิด โดยจัดทำโครงการต่างๆ ที่มุ่งให้สังคมไทยมีสำนึกและส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษาสถาบันหลักของชาติ ซึ่งถือเป็นบทบาทและหน้าที่ของประชาชนทั่วประเทศ ในฐานะการเป็นพลเมืองไทยที่พึงปฏิบัติต่อบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง
จึงอาจกล่าวได้ว่า กองทัพบก ได้ขยายบทบาทและหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติ ไปสู่การรักษาความมั่นคงของมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม (Holistic Human Security) ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดย ปลูกต้นไม้แห่งการพัฒนา ให้กับประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้บริโภคและใช้สอย รวมทั้งยังได้ ปลูกต้นไม้แห่งความจงรักภักดี ให้เกิดขึ้นในจิตใจของปวงชนชาวไทย เพื่อเตรียมความพร้อมของประชาชนให้มีศักยภาพในการร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ ให้ก้าวไปสู่การเป็น ประเทศพัฒนา อย่างมีความสมดุลและยั่งยืน ตามคติยึดมั่นของกองทัพบกที่ว่า “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน”


[1] กรอบแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์. http://www.ryt9.com/s/cabt/27187.

[2] Ronald F. Inglehart Pippa. Norris. (2011). The Four Horsemen of the Apocalypse : Understanding Human Security Faculty Research Working Paper Series. Harvard Kennedy School. (October 2011).
[3] กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (2545). สรุปรายงานการประชุมนานาชาติ เรื่อง สิ่งท้าทายความมั่นคงของมนุษย์ในโลกไร้พรมแดน : Challenges to Human Security. 11 ธันวาคม 2554 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. http://www.m-society.go.th/edoc_detail.php?edocid=110.