วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555


ธรรมะกับชีวิต
พันเอก ดร. ภูมิรัตน์  ลือศิริ

ธรรมะ คืออะไร หลายท่านคงทราบความหมายดีแล้ว แต่อีกหลายๆ ท่านก็คงจะยังไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของ “ธรรมะท่านพุทธทาสภิกขุ ได้จำแนกความหมายของธรรมไว้ 4 ประการ ได้แก่  1. ธรรมะ คือหน้าที่และการปฏิบัติตามหน้าที่ 2. ธรรมะ คือผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามหน้าที่ 3. ธรรมะ คือความจริงที่ปรากฏหรือกฎธรรมชาติ และ 4. ธรรมะ คือธรรมชาติทั้งปวง สอดคล้องกับคำสอนของ พระพุทธโฆษาจารย์ ที่ได้ให้ความหมายธรรมะไว้ 4 ประการคือ 1. ความประพฤติที่ดีงาม 2. คำสั่งสอน คำแนะนำทางศีลทางธรรม 3. ลักษณะคำสอนของพระพุทธเจ้า 4. กฎแห่งเอกภพที่มิใช่สัตว์ มิใช่บุคคล หรือ                 กฎธรรมชาติ” โดย พระธรรมปิฎก ได้กล่าวถึงความหมายของพระธรรมไว้ว่า “พระธรรม” คือ ความจริงของสิ่งทั้งหลายหรือธรรมชาติทั้งหมด รวมทั้งโลกและชีวิตของเรา ซึ่งมนุษย์จะต้องรู้ เข้าใจ และดำเนินชีวิตให้ประสานสอดคล้องถูกต้องตามนั้น เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นสุขแท้จริง จึงสรุปรวมความได้ว่า “ธรรมะ” หมายถึง ระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่โดยตัวของมันเองในธรรมชาติ หรือเป็น “กฎของธรรมชาติ” ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเพียงผู้ค้นพบ ปฏิบัติ จนเกิดผลที่ต้องการแล้วประกาศให้คนอื่นรู้ เมื่อคนอื่นรู้แล้วปฏิบัติตามก็เกิดผลอย่างเดียวกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า “ธรรมะ” คือ “คำสั่ง” และ “คำสอน” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อพัฒนาจิตใจของมนุษย์ให้พบกับความสงบสุขอย่างแท้จริงตามกฎของธรรมชาติ
ซึ่ง “คำสั่ง” หรือข้อห้ามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เมตตาประทานให้แก่มนุษย์ ได้แก่ “ศีลซึ่งเป็นข้อปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงามมีความปกติสุข โดยพระราชพรหมญาณ หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ได้เมตตาสั่งสอนบรรดาพุทธศาสนิกชนว่า “ศีล” แปลว่า ปกติ โดยบุคคลผู้มี “ศีลถือว่าเป็น “คนปกติ” ซึ่งเมื่อพิจารณาคำสอนดังกล่าวกับศีลของฆารวาส คือศีล 5 ก็จะพบความจริงที่ว่า ศีลข้อที่ 1 ปาณาติปาตา เวรมณี (ไม่ใจร้าย) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนอื่นมาทำอันตรายต่อชีวิตของตน ศีลข้อที่ 2 อาทินนาทานา เวรมณี (ไม่มือไว) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนอื่นมาเอาทรัพย์สินของตนไปครอบครอง ศีลข้อที่ 3 กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี (ไม่ใจเร็ว) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนอื่นมากระทำกาเมบุคคลในปกครองของตนเอง ศีลข้อที่ 4 มุสาวาทา เวรมณี (ไม่พูดปด) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนอื่นมาพูดปดหลอกลวงตนเอง และศีลข้อที่ 5 สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานา เวรมณี (ไม่หมดสติ) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนวิกลจริตมารังควานตนเอง ดังนั้น เมื่อ “ศีล” เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามไม่ต้องการให้คนอื่นมากระทำมิดีมิร้ายต่อตน ทรัพย์สินของตน และบุคคลในปกครองของตน มนุษย์จึงควรยึดมั่นใน “ศีล” ที่จะไม่ไปกระทำผิดทั้งทางกาย วาจา และใจ ต่อผู้อื่นด้วย
 ศีล” จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปกติในตนเอง ถือเป็นหลักธรรมที่จะทำคนให้เป็น “คนปกติ” อันจะยังผลให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข เกิดศานติสุข ไม่มีเวรภัยต่อกันและกัน ทั้งในครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลก ดังพระบาลีที่กล่าวไว้ว่า
กาเยน วาจาย จ โยธ สญฺญโตมนสา จ กิญฺจิ น กโรติ ปาปํ น อตฺตเหตุ อลิกํ ภณาติ ตถาวิธํ สีลวนฺติ วทนฺติ” แปลความได้ว่า “ผู้ใดสำรวมในโลกนี้ สำรวมทางกาย วาจาและใจ ไม่ทำบาปอะไรๆ และไม่พูดพล่อย เพราะเหตุแห่งตน ท่านย่อมเรียกคนเช่นนั้นว่า ผู้มีศีล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น