วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555


บทบาททหารกับความมั่นคงของมนุษย์

แนวคิดเรื่อง “ความมั่นคง” เป็นสิ่งที่มีการตีความอย่างแคบๆ มาเป็นเวลานานมาก จากการมองว่าเป็นความมั่นคงปลอดภัยของเขตแดนจากการรุกรานจากภายนอก หรือเป็นการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติในนโยบายระหว่างประเทศ หรือเป็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของโลกจากการคุกคามของอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอำนาจทำลายล้าง โดยจะเห็นได้ว่าความมั่นคงปลอดภัยในที่นี้ เป็นเรื่องของ “รัฐชาติ” มากกว่าที่จะเกี่ยวข้องกับ “ประชาชน” โดยมีอดีตที่เกิดจากประเทศมหาอำนาจติดพันกับการต่อสู้กันทางอุดมการณ์ทางการเมืองและทำสงครามเย็นไปทั่วโลก ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาก็อ่อนไหวต่อการคุกคามทั้งที่เกิดขึ้นจริงและที่คาดการณ์ได้ต่อเอกลักษณ์ของชาติอันเปราะบาง สิ่งที่ถูกลืมไป คือ ความห่วงใยที่ชอบธรรมต่อประชาชนธรรมดาๆ ที่พยายามหาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตประจำวันของตน สำหรับประชาชนแล้ว ความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยของตนเองนั้น มักจะเกิดจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน มากกว่าความน่าสะพรึงกลัวของเหตุการณ์หายนะครั้งใหญ่ในโลก เช่น วันนี้ครอบครัวของเราจะมีอาหารรับประทานพอไหม จะตกงานหรือเปล่า จะปลอดภัยจากอาชญากรรมหรือไม่ จะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงหรือไม่ ดังนั้น ความมั่นคงของมนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการสู้รบ แต่เป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์
ดังนั้น องค์การสหประชาชาติ (The United Nations) จึงได้นำแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) มาเป็นวาระของโลก ซึ่งถูกกล่าวถึงในรายงาน "การพัฒนามนุษย์ ค.ศ. 1994" ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program :UNDP) โดยมีเป้าหมายที่สำคัญเกี่ยวกับมนุษย์ 2 ประการ คือ 1) มนุษย์ทุกคนจะต้องปลอดจากความกลัว (Freedom From Fear) 2) ปลอดจากความขาดแคลนหรือความต้องการ (Freedom From Want) ซึ่งนับเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดความมั่นคงของชาติ อันประกอบด้วยรัฐและดินแดนมาเป็นความมั่นคงของประชาชนในฐานะองค์กรประกอบพื้นฐานของชาติ[1] โดยถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centered)
โดย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program :UNDP) ได้กำหนดความมั่นคงของมนุษย์ไว้ 7 ประการ ได้แก่[2] 1) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (ประชาชนมีรายได้พอเพียงแก่การยังชี) (2) ความมั่นคงด้านอาหาร (ประชาชนสามารถหาอาหารมาเลี้ยงชีพได้อย่างเพียงพอ จากรายได้ที่เกิดขึ้น หรือจากทรัพย์สินที่มีอยู่) (3) สุขภาพการรักษาความปลอดภัย (ประชาชนมีสุขภาพดี ปลอดจากโรคติดต่อต่างๆ และความเจ็บไข้ได้ป่วยอื่นๆ) (4) การรักษาความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม (ความสมบูรณ์ของทรัพยากรบนแผ่นดิน ในอากาศและในแหล่งน้ำ ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถสร้างถิ่นฐานอยู่ได้อย่างยั่งยืน) (5) ความปลอดภัยส่วนบุคคล (ความปลอดภัยจากสิ่งต่างๆ เช่น ภัยจากสงคราม ยาเสพติด) (6) การรักษาความปลอดภัยชุมชน (ความอยู่รอดของวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์) และ (7) ความมั่นคงทางการเมือง (สิทธิทางการเมืองและเสรีภาพทีปราศจากการกดขี่ทางการเมือง) ทั้งนี้ กลุ่มประเทศในอาเซียน ก็ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาจัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกันตามสนธิสัญญาในกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ในการจัดตั้งเป็นประชาคมอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) โดยมีความมุ่งหมายสำคัญที่เรียกว่า 3 เสาหลัก คือ เสาประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน เสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
ครั้นมองย้อนไปถึงปัญหาความมั่นคงของมนุษย์แล้ว 'อมาตยา เซน'[3] นักเศรษฐศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบล ได้ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า “ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์เป็นปัญหาเก่าแก่ หากย้อนกลับไปสมัยพุทธกาลเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว พระพุทธเจ้าต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่มวลมนุษยชาติ ซึ่งความมั่นคงดังกล่าว คือ ความมั่นคงทางจิตใจ พระองค์เห็นความทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บตายจึงพยายามหาเหตุแห่งทุกข์ดังกล่าว จึงพยายามค้นหาทางดับทุกข์ดังกล่าว การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า การเผยแพร่ธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้นเป็นการสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานของความมั่นคงในระดับจิตใจ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เข้าใจรากเหง้าของสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ และคำสอนดังกล่าวยังสามารถปรับใช้กับสภาวการณ์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ซึ่งในประเทศไทย บุคคลที่ต่อสู้และกระทำสงครามกับความไม่มั่นคงของมนุษย์ ก็เห็นจะมีแต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตั้งพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ ที่จะสร้างให้เกิดความมั่นคงในชีวิตของพสกนิกรชาวไทยทั่วทั้งประเทศ โดยได้พระราชทานแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งทรงมีพระราชจริยาวัตรที่เป็นแบบอย่างในความพอเพียงให้เห็นเป็นต้นแบบ จนทำให้ผู้นำหลายต่อหลายประเทศน้อมนำไปเป็นแบบอย่าง อาทิ ประเทศภูฐาน เป็นต้น
จากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระองค์ กองทัพบก โดยผู้บัญชาการทหารบก ในหลายยุคหลายสมัย ก็ได้น้อมนำพระราชปณิธานดังกล่าว มาสานต่อจนเกิดเป็นโครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงในชีวิต รวมทั้งได้นำปรัชญาที่ได้ทรงพระราชทานให้คนไทยทุกหมู่เหล่า ไปช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ประเทศติมอร์ตะวันออก ประเทศซูดาน และอีกหลายๆ ประเทศที่กองทัพบกมีภารกิจเข้าไปช่วยเหลือในภารกิจการรักษาสันติภาพ จนประเทศดังกล่าวมีความเจริญก้าวหน้าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ซึ่งเมื่อกล่าวถึงภารกิจของกองทัพบก ที่กำหนดพันธกิจหลัก 2 ประการ คือ การเตรียมกำลัง และการใช้กำลัง เพื่อป้องกันราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศ การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาติ การรักษาความมั่นคงภายใน การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การช่วยพัฒนาประเทศ ตลอดจนการสนับสนุนรัฐบาลและประชาชนในการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติในรูปแบบต่างๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า กองทัพบก เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจ เพื่อสร้างให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์ ไม่เพียงแค่ประชาชนชาวไทยเท่านั้น ยังได้เผื่อแผ่ไปยังมิตรประเทศอีกด้วย ทั้งการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร เพื่อสร้างให้เกิดความเสมอภาคทางเศรษฐกิจครัวเรือน และเป็นภูมิคุ้มกันด้านอาหาร รวมทั้งเป็นแหล่งยารักษาโรคเพื่อการป้องกันสุขภาวะโดยรวมของประชาชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้ประชาชนในภูมิภาคต่างๆ รู้คุณค่าของธรรมชาติ และสามารถดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุล ตลอดจนยังได้ส่งเสริมความปลอดภัยของประชาชนจากโรคภัยไข้เจ็บ และพิษภัยของยาเสพติด ทั้งการป้องกัน ปราบปราม รวมทั้งการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความปลอดภัยในถิ่นฐานบ้านเกิดและชุมชนที่อยู่อาศัย ให้ปราศจากภัยคุกคามต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ด้วยการเข้าร่วมเป็นกำลังประชาชนหรือมวลชนกับ กองทัพบก เพื่อความมั่นคงในชีวิตของประชาชนทุกๆ คน ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าแสดงออกในด้านสิทธิทางการเมือง อย่างมีศักดิ์ศรีที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย ภายใต้พระบรมโพธิสมภารขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นั้นคือสิ่งที่ กองทัพบก ได้น้อมนำพระราชปณิธานขององค์จอมทัพไทย มาปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย เพื่อให้ปลอดจากความขาดแคลนหรือความต้องการ (Freedom From Want) นอกจากนี้ กองทัพบก ยังได้ช่วยเหลือประชาชนให้พ้นทุกข์และปลอดจากความกลัว (Freedom From Fear) จากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมของโลก ซึ่งการดำเนินการที่ กองทัพบก ได้กระทำมานั้น หากวิเคราะห์ดูจากวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของมนุษย์ของ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program :UNDP) ก็จะพบว่าสามารถดำเนินการได้ครบทั้ง 7 ประการ ซึ่งนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการสร้างให้เกิด ความมั่นคงของมนุษย์ทางกายภาพ
ส่วน ความมั่นคงของมนุษย์ทางจิตใจ ในทัศนะของ อมาตยา เซน แล้ว กองทัพบก ยังได้ดำเนินการพัฒนาจิตสำนึกแห่งความจงรักภักดี ความรัก สามัคคี ให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนไทย เพื่อปลุกให้ตื่นจากการหลับใหล และการตกอยู่ในวังวนแห่งความมืดดำของอวิชชาหรือความหลงผิด โดยจัดทำโครงการต่างๆ ที่มุ่งให้สังคมไทยมีสำนึกและส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษาสถาบันหลักของชาติ ซึ่งถือเป็นบทบาทและหน้าที่ของประชาชนทั่วประเทศ ในฐานะการเป็นพลเมืองไทยที่พึงปฏิบัติต่อบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง
จึงอาจกล่าวได้ว่า กองทัพบก ได้ขยายบทบาทและหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติ ไปสู่การรักษาความมั่นคงของมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม (Holistic Human Security) ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดย ปลูกต้นไม้แห่งการพัฒนา ให้กับประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้บริโภคและใช้สอย รวมทั้งยังได้ ปลูกต้นไม้แห่งความจงรักภักดี ให้เกิดขึ้นในจิตใจของปวงชนชาวไทย เพื่อเตรียมความพร้อมของประชาชนให้มีศักยภาพในการร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ ให้ก้าวไปสู่การเป็น ประเทศพัฒนา อย่างมีความสมดุลและยั่งยืน ตามคติยึดมั่นของกองทัพบกที่ว่า “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน”


[1] กรอบแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์. http://www.ryt9.com/s/cabt/27187.

[2] Ronald F. Inglehart Pippa. Norris. (2011). The Four Horsemen of the Apocalypse : Understanding Human Security Faculty Research Working Paper Series. Harvard Kennedy School. (October 2011).
[3] กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (2545). สรุปรายงานการประชุมนานาชาติ เรื่อง สิ่งท้าทายความมั่นคงของมนุษย์ในโลกไร้พรมแดน : Challenges to Human Security. 11 ธันวาคม 2554 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. http://www.m-society.go.th/edoc_detail.php?edocid=110.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น