วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556


สีที่แตกต่าง
พ.อ.ดร.ภูมิรัตน์   ลือศิริ

สีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตมนุษย์ ซึ่งมนุษย์รู้จักนำสีมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ในอดีตกาล มนุษย์ได้ค้นพบสีจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากพืช สัตว์ ดิน และแร่ธาตุนานาชนิด จากการค้นพบสีเหล่านั้น มนุษย์ได้นำเอาสีต่างๆ มาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยนำมาระบายลงบนสิ่งของภาชนะเครื่องใช้ หรือระบายลงบนรูปปั้น รูปแกะสลัก เพื่อให้รูปเด่นชัดขึ้น มีความเหมือนจริงมากขึ้น รวมไปถึงการใช้สีวาดลงไปบนผนังถ้ำ หน้าผา ก้อนหิน เพื่อใช้ถ่ายทอดเรื่องราว และทำให้เกิดความรู้สึกถึงพลังอำนาจที่มีอยู่เหนือสิ่งต่างๆ ทั้งปวง
เนื่องจากสีเป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึก อารมณ์ และจิตใจของมนุษ์ มากกว่าองค์ประกอบอื่นๆ ในชีวิตของมนุษย์จึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสีต่างๆ อย่างแยกแยะไม่ออก โดยที่สีจะให้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ 1. ใช้ในการจำแนกสิ่งต่างๆ เพื่อให้เห็นชัดเจน 2. ใช้ในการจัดองค์ประกอบของสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดความสวยงาม กลมกลืน เช่น การแต่งกาย การจัดตกแต่งบ้าน 3. ใช้ในการจัดกลุ่ม พวก คณะ ด้วยการใช้สีต่างๆ เช่น คณะสี เครื่องแบบต่างๆ 4. ใช้ในการสื่อความหมาย เป็นสัญลักษณ์ หรือใช้บอกเล่าเรื่องราว 5. ใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อให้เกิดความสวยงาม สร้างบรรยากาศ สมจริงและน่าสนใจ และ 6. เป็นองค์ประกอบในการมองเห็นสิ่งต่างๆ ของมนุษย์
ย้อนไปในอดีตครั้งเรายังเด็กๆ กัน ยังจำได้ไหมที่คุณครูเคยพร่ำสอนว่าแม่สี (Primary colors) นั้นมี 3 สี คือ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน และเมื่อไรที่เรานำ 3 สีนี้มาใช้งาน เราจะค้นพบสีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย สามสีนี้แหละเป็นตัวยืนในการผสมผสานให้เกิดสีที่หลากหลาย เพื่อแต่งแต้มสีสันโลกใบกลมใบนี้ให้ดูสดใสงดงามอยู่เสมอ ซึ่งหากจะมองความหมายของแม่สีต่างๆ ในเชิงจิตวิทยาแล้ว จะพบว่ามีความหมายที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดดังนี้
สีแดง (Red) ให้ความรู้สึกร้อน รุนแรง กระตุ้น ท้าทาย เคลื่อนไหว ตื่นเต้น เร้าใจ มีพลัง ความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง ความรัก ความสำคัญ และอันตราย
สีเหลือง (Yellow) ให้ความรู้สึกแจ่มใส ความสดใส ความร่าเริง ความเบิกบานสดชื่น ชีวิตใหม่ ความสด ใหม่ ความสุกสว่าง การแผ่กระจาย และอำนาจบารมี
สีน้ำเงิน (Blue) ให้ความรู้สึกสงบ สุขุม สุภาพ หนักแน่น เคร่งขรึม เอาการเอางาน ละเอียด รอบคอบ สง่างาม มีศักดิ์ศรี สูงศักดิ์ เป็นระเบียบ และถ่อมตน
ซึ่งเมื่อวันเวลาผ่านพ้นไป สีที่พวกเราเคยใช้สร้างสรรค์ให้โลกใบนี้ดูสวยงามในวัยเด็ก กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกคนไทยออกเป็นฝักเป็นฝ่าย ดังเช่น กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) ที่กั้นเยอรมันตะวันตก ออกจากเยอรมนีตะวันออก ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2504 อยู่นานถึง 28 ปี ก่อนจะพังทลายลงด้วยพลังแห่งความสมัครสมานสามัคคีของชาวเยอรมันทั้งสองฝั่ง ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ซึ่งทุกวันนี้กำแพงดังกล่าว ยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความโหดเหี้ยมแห่งสงครามของความขัดแย้งที่ล้างผลาญชีวิตชาวเยอรมันกันเอง มาตราบจนทุกวันนี้
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ใครเล่าจะคาดเดาได้ว่า แม่สีทั้ง 3 ที่คอยผสมกลมกลืน สร้างสรรค์ความสวยสดใสให้กับโลกใบนี้อย่างหลากหลาย จะถูกคนบางกลุ่ม บางพวกที่ขัดแย้งกัน นำไปใช้ด้วยเหตุผลส่วนตน แม่สีทั้ง 3 ที่เคยผสมกลมเกลียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสวยงาม จึงจำต้องแยกจากกัน เพราะความคิดและอุดมการณ์ของคนบางกลุ่มเพียงเท่านั้น สีที่เคยผสมผสานกันได้อย่างลงตัว กลับกลายเป็นสีที่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวของตัวเอง เกิดการแบ่งแยกที่ทำให้แตกต่าง เพียงเพราะผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวกัน ซึ่งจริงๆ แล้วแม่สีทั้ง3 ไม่ได้อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับเกมส์ของบุคคลเหล่านั้นเลย แต่ในเมื่อพวกเขานำแม่สีไปใช้แล้ว จะทำอย่างไรได้เล่า จะให้เราเลิกใช้แม่สีเหล่านั้นเหรอ จะให้เราเลือกสีใดสีหนึ่งเหรอ หรือจะให้เราทิ้งสีพวกนั้นไป ไม่นำมาใช้อีกเลยเหรอ
ซึ่งความเป็นจริงแล้ว หากโลกใบนี้ขาดแม่สีทั้ง 3 ไป ความงดงามจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้น ทางออกของเรื่องนี้ มีเพียงแค่การทำความเข้าใจในความเป็นจริง ไม่เลือกข้างเลือกฝ่ายกับสีใดสีหนึ่ง แต่ค่อยๆ รวมแต่ละแม่สีเหล่านั้นมานั่งคุยกันว่า สิ่งที่ทำกันอยู่นั้น มันสร้างสรรค์ประโยชน์อะไรให้กับบ้านนี้เมืองนี้บ้าง ต้องการแต่งแต้มประเทศไทยให้มีเพียงสีเดียวเท่านั้นเหรอ เพียงแค่คนวาดภาพไม่กี่คนที่หลงเข้าไปอยู่ในกระบวนการของ ศักดิ์สี หลงอยู่กับสิ่งยั่วยุ ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น จึงเกิดความแตกต่าง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นใช่ว่าจิตรกรอีกนับหลายล้านคนในชาตินี้ เขาจะเห็นด้วย
และหากมองย้อนไปในอดีตครั้งที่ เซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isac Newton) ได้ค้นพบกฏการสะท้อนและการหักเหของแสง โดยใช้แท่งปริซึม (Prism) ซึ่งมีด้านที่รับแสง 3 ด้าน เพื่อให้แสงผ่าน สิ่งที่เขาค้นพบก็คือ แสงสว่างของดวงอาทิตย์ที่ให้ความสว่างไสวแก่โลกใบนี้ ประกอบไปด้วยแสงสีถึง 7 สี ได้แก่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และแดง ตามลำดับ และเมื่อนำแสงสีทั้ง 7 สีมารวมกัน ก็จะกลายเป็นแสงสีขาวสดใส ที่ให้ความสว่างไสวแก่โลกใบนี้เช่นเดิม
ดังนั้น เราทุกคนที่เป็นพี่น้องร่วมชาติไทยด้วยกันพึงตระหนักไว้เถิดว่า ชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก การจะหักเผ่าพันธ์หรือแยกบ้านแบ่งเมือง ที่บรรพชนรุ่นก่อนเอาเลือดเอาเนื้อ และชีวิต ปูทางให้อนุชนรุ่นหลังได้เหยียบย่ำเถ้าธุลีท่านทั้งหลายเหล่านั้น ที่ยอมพลีกายถวายชีวิตปกป้องให้ยั่งยืนสืบมาจนบัดนี้ คงเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก เพราะยังมีพี่น้องเลือดไทยอีกมากมาย ซึ่งมีสีเดียวกัน คือ สีแห่งความเป็นไท ไทยผู้ไม่เคยยอมแพ้ให้กับมันผู้ใดที่จะคิดมาปล้นอธิปไตย หรือป่วนความสงบสุขของเผ่าพงษ์ ที่ยังคอยเฝ้าดูการกระทำต่างๆ ของกลุ่มคนเหล่านั้น และยังหวังว่า ปริซึม (Prism) ที่เป็นหลักของชาติบ้านเมืองทั้ง 3 ด้าน อันประกอบด้วยความสำนึกใน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ยังจะสามารถรวมสีต่างในชาติไทย ให้เป็นแสงสว่างนำทางพารัฐนาวาชาติไทย ให้ก้าวข้ามผ่านพ้นความทุกข์ สู่ความสุขที่ยั่งยืน เช่นที่เคยเป็นมาในอดีตกาล ครั้งยุคของบรรพชนเผ่าไทยเคยกระทำไว้ให้เห็นเป็นตัวอย่างของความรักความสามัคคี นั้นบ่งบอกถึงความสำนึกในหน้าที่ที่ปวงชนชาวไทย จะพึงมีและพึงกระทำให้กับบ้านนี้เมืองนี้ ฉะนั้น พี่น้องไทยเอย จงอย่ามั่วนั่งเฉยรอคอยโชคชะตา หรือให้เทวดาองค์ใดมาช่วยเลย เรานี้แหละจงรวมพลังกันสร้างสรรค์สุวรรณภูมิถิ่นเกิดถิ่นอาศัย ให้ฟูเฟื่องเลืองลือ หรือจะปล่อยให้เสื่อมถอยไปมากกว่านี้ เพราะมิเช่นนั้นแล้ว สีสุดท้ายที่เผ่าพงษ์ไทยทั้งหลายเราจะได้เห็น จะเป็นแค่ "สีดำ" แห่งความโศกศัลย์เพียงสีเดียว...

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555


ธรรมะกับชีวิต
พันเอก ดร. ภูมิรัตน์  ลือศิริ

ธรรมะ คืออะไร หลายท่านคงทราบความหมายดีแล้ว แต่อีกหลายๆ ท่านก็คงจะยังไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของ “ธรรมะท่านพุทธทาสภิกขุ ได้จำแนกความหมายของธรรมไว้ 4 ประการ ได้แก่  1. ธรรมะ คือหน้าที่และการปฏิบัติตามหน้าที่ 2. ธรรมะ คือผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามหน้าที่ 3. ธรรมะ คือความจริงที่ปรากฏหรือกฎธรรมชาติ และ 4. ธรรมะ คือธรรมชาติทั้งปวง สอดคล้องกับคำสอนของ พระพุทธโฆษาจารย์ ที่ได้ให้ความหมายธรรมะไว้ 4 ประการคือ 1. ความประพฤติที่ดีงาม 2. คำสั่งสอน คำแนะนำทางศีลทางธรรม 3. ลักษณะคำสอนของพระพุทธเจ้า 4. กฎแห่งเอกภพที่มิใช่สัตว์ มิใช่บุคคล หรือ                 กฎธรรมชาติ” โดย พระธรรมปิฎก ได้กล่าวถึงความหมายของพระธรรมไว้ว่า “พระธรรม” คือ ความจริงของสิ่งทั้งหลายหรือธรรมชาติทั้งหมด รวมทั้งโลกและชีวิตของเรา ซึ่งมนุษย์จะต้องรู้ เข้าใจ และดำเนินชีวิตให้ประสานสอดคล้องถูกต้องตามนั้น เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นสุขแท้จริง จึงสรุปรวมความได้ว่า “ธรรมะ” หมายถึง ระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่โดยตัวของมันเองในธรรมชาติ หรือเป็น “กฎของธรรมชาติ” ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเพียงผู้ค้นพบ ปฏิบัติ จนเกิดผลที่ต้องการแล้วประกาศให้คนอื่นรู้ เมื่อคนอื่นรู้แล้วปฏิบัติตามก็เกิดผลอย่างเดียวกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า “ธรรมะ” คือ “คำสั่ง” และ “คำสอน” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อพัฒนาจิตใจของมนุษย์ให้พบกับความสงบสุขอย่างแท้จริงตามกฎของธรรมชาติ
ซึ่ง “คำสั่ง” หรือข้อห้ามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เมตตาประทานให้แก่มนุษย์ ได้แก่ “ศีลซึ่งเป็นข้อปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงามมีความปกติสุข โดยพระราชพรหมญาณ หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ได้เมตตาสั่งสอนบรรดาพุทธศาสนิกชนว่า “ศีล” แปลว่า ปกติ โดยบุคคลผู้มี “ศีลถือว่าเป็น “คนปกติ” ซึ่งเมื่อพิจารณาคำสอนดังกล่าวกับศีลของฆารวาส คือศีล 5 ก็จะพบความจริงที่ว่า ศีลข้อที่ 1 ปาณาติปาตา เวรมณี (ไม่ใจร้าย) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนอื่นมาทำอันตรายต่อชีวิตของตน ศีลข้อที่ 2 อาทินนาทานา เวรมณี (ไม่มือไว) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนอื่นมาเอาทรัพย์สินของตนไปครอบครอง ศีลข้อที่ 3 กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี (ไม่ใจเร็ว) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนอื่นมากระทำกาเมบุคคลในปกครองของตนเอง ศีลข้อที่ 4 มุสาวาทา เวรมณี (ไม่พูดปด) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนอื่นมาพูดปดหลอกลวงตนเอง และศีลข้อที่ 5 สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานา เวรมณี (ไม่หมดสติ) ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยากให้คนวิกลจริตมารังควานตนเอง ดังนั้น เมื่อ “ศีล” เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามไม่ต้องการให้คนอื่นมากระทำมิดีมิร้ายต่อตน ทรัพย์สินของตน และบุคคลในปกครองของตน มนุษย์จึงควรยึดมั่นใน “ศีล” ที่จะไม่ไปกระทำผิดทั้งทางกาย วาจา และใจ ต่อผู้อื่นด้วย
 ศีล” จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปกติในตนเอง ถือเป็นหลักธรรมที่จะทำคนให้เป็น “คนปกติ” อันจะยังผลให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข เกิดศานติสุข ไม่มีเวรภัยต่อกันและกัน ทั้งในครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลก ดังพระบาลีที่กล่าวไว้ว่า
กาเยน วาจาย จ โยธ สญฺญโตมนสา จ กิญฺจิ น กโรติ ปาปํ น อตฺตเหตุ อลิกํ ภณาติ ตถาวิธํ สีลวนฺติ วทนฺติ” แปลความได้ว่า “ผู้ใดสำรวมในโลกนี้ สำรวมทางกาย วาจาและใจ ไม่ทำบาปอะไรๆ และไม่พูดพล่อย เพราะเหตุแห่งตน ท่านย่อมเรียกคนเช่นนั้นว่า ผู้มีศีล

บทบาททหารกับความมั่นคงของมนุษย์

แนวคิดเรื่อง “ความมั่นคง” เป็นสิ่งที่มีการตีความอย่างแคบๆ มาเป็นเวลานานมาก จากการมองว่าเป็นความมั่นคงปลอดภัยของเขตแดนจากการรุกรานจากภายนอก หรือเป็นการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติในนโยบายระหว่างประเทศ หรือเป็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของโลกจากการคุกคามของอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอำนาจทำลายล้าง โดยจะเห็นได้ว่าความมั่นคงปลอดภัยในที่นี้ เป็นเรื่องของ “รัฐชาติ” มากกว่าที่จะเกี่ยวข้องกับ “ประชาชน” โดยมีอดีตที่เกิดจากประเทศมหาอำนาจติดพันกับการต่อสู้กันทางอุดมการณ์ทางการเมืองและทำสงครามเย็นไปทั่วโลก ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาก็อ่อนไหวต่อการคุกคามทั้งที่เกิดขึ้นจริงและที่คาดการณ์ได้ต่อเอกลักษณ์ของชาติอันเปราะบาง สิ่งที่ถูกลืมไป คือ ความห่วงใยที่ชอบธรรมต่อประชาชนธรรมดาๆ ที่พยายามหาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตประจำวันของตน สำหรับประชาชนแล้ว ความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยของตนเองนั้น มักจะเกิดจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน มากกว่าความน่าสะพรึงกลัวของเหตุการณ์หายนะครั้งใหญ่ในโลก เช่น วันนี้ครอบครัวของเราจะมีอาหารรับประทานพอไหม จะตกงานหรือเปล่า จะปลอดภัยจากอาชญากรรมหรือไม่ จะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงหรือไม่ ดังนั้น ความมั่นคงของมนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการสู้รบ แต่เป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์
ดังนั้น องค์การสหประชาชาติ (The United Nations) จึงได้นำแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) มาเป็นวาระของโลก ซึ่งถูกกล่าวถึงในรายงาน "การพัฒนามนุษย์ ค.ศ. 1994" ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program :UNDP) โดยมีเป้าหมายที่สำคัญเกี่ยวกับมนุษย์ 2 ประการ คือ 1) มนุษย์ทุกคนจะต้องปลอดจากความกลัว (Freedom From Fear) 2) ปลอดจากความขาดแคลนหรือความต้องการ (Freedom From Want) ซึ่งนับเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดความมั่นคงของชาติ อันประกอบด้วยรัฐและดินแดนมาเป็นความมั่นคงของประชาชนในฐานะองค์กรประกอบพื้นฐานของชาติ[1] โดยถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centered)
โดย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program :UNDP) ได้กำหนดความมั่นคงของมนุษย์ไว้ 7 ประการ ได้แก่[2] 1) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (ประชาชนมีรายได้พอเพียงแก่การยังชี) (2) ความมั่นคงด้านอาหาร (ประชาชนสามารถหาอาหารมาเลี้ยงชีพได้อย่างเพียงพอ จากรายได้ที่เกิดขึ้น หรือจากทรัพย์สินที่มีอยู่) (3) สุขภาพการรักษาความปลอดภัย (ประชาชนมีสุขภาพดี ปลอดจากโรคติดต่อต่างๆ และความเจ็บไข้ได้ป่วยอื่นๆ) (4) การรักษาความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม (ความสมบูรณ์ของทรัพยากรบนแผ่นดิน ในอากาศและในแหล่งน้ำ ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถสร้างถิ่นฐานอยู่ได้อย่างยั่งยืน) (5) ความปลอดภัยส่วนบุคคล (ความปลอดภัยจากสิ่งต่างๆ เช่น ภัยจากสงคราม ยาเสพติด) (6) การรักษาความปลอดภัยชุมชน (ความอยู่รอดของวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์) และ (7) ความมั่นคงทางการเมือง (สิทธิทางการเมืองและเสรีภาพทีปราศจากการกดขี่ทางการเมือง) ทั้งนี้ กลุ่มประเทศในอาเซียน ก็ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาจัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกันตามสนธิสัญญาในกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ในการจัดตั้งเป็นประชาคมอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) โดยมีความมุ่งหมายสำคัญที่เรียกว่า 3 เสาหลัก คือ เสาประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน เสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
ครั้นมองย้อนไปถึงปัญหาความมั่นคงของมนุษย์แล้ว 'อมาตยา เซน'[3] นักเศรษฐศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบล ได้ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า “ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์เป็นปัญหาเก่าแก่ หากย้อนกลับไปสมัยพุทธกาลเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว พระพุทธเจ้าต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่มวลมนุษยชาติ ซึ่งความมั่นคงดังกล่าว คือ ความมั่นคงทางจิตใจ พระองค์เห็นความทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บตายจึงพยายามหาเหตุแห่งทุกข์ดังกล่าว จึงพยายามค้นหาทางดับทุกข์ดังกล่าว การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า การเผยแพร่ธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้นเป็นการสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานของความมั่นคงในระดับจิตใจ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เข้าใจรากเหง้าของสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ และคำสอนดังกล่าวยังสามารถปรับใช้กับสภาวการณ์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ซึ่งในประเทศไทย บุคคลที่ต่อสู้และกระทำสงครามกับความไม่มั่นคงของมนุษย์ ก็เห็นจะมีแต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตั้งพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ ที่จะสร้างให้เกิดความมั่นคงในชีวิตของพสกนิกรชาวไทยทั่วทั้งประเทศ โดยได้พระราชทานแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งทรงมีพระราชจริยาวัตรที่เป็นแบบอย่างในความพอเพียงให้เห็นเป็นต้นแบบ จนทำให้ผู้นำหลายต่อหลายประเทศน้อมนำไปเป็นแบบอย่าง อาทิ ประเทศภูฐาน เป็นต้น
จากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระองค์ กองทัพบก โดยผู้บัญชาการทหารบก ในหลายยุคหลายสมัย ก็ได้น้อมนำพระราชปณิธานดังกล่าว มาสานต่อจนเกิดเป็นโครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงในชีวิต รวมทั้งได้นำปรัชญาที่ได้ทรงพระราชทานให้คนไทยทุกหมู่เหล่า ไปช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ประเทศติมอร์ตะวันออก ประเทศซูดาน และอีกหลายๆ ประเทศที่กองทัพบกมีภารกิจเข้าไปช่วยเหลือในภารกิจการรักษาสันติภาพ จนประเทศดังกล่าวมีความเจริญก้าวหน้าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ซึ่งเมื่อกล่าวถึงภารกิจของกองทัพบก ที่กำหนดพันธกิจหลัก 2 ประการ คือ การเตรียมกำลัง และการใช้กำลัง เพื่อป้องกันราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศ การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาติ การรักษาความมั่นคงภายใน การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การช่วยพัฒนาประเทศ ตลอดจนการสนับสนุนรัฐบาลและประชาชนในการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติในรูปแบบต่างๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า กองทัพบก เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจ เพื่อสร้างให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์ ไม่เพียงแค่ประชาชนชาวไทยเท่านั้น ยังได้เผื่อแผ่ไปยังมิตรประเทศอีกด้วย ทั้งการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร เพื่อสร้างให้เกิดความเสมอภาคทางเศรษฐกิจครัวเรือน และเป็นภูมิคุ้มกันด้านอาหาร รวมทั้งเป็นแหล่งยารักษาโรคเพื่อการป้องกันสุขภาวะโดยรวมของประชาชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้ประชาชนในภูมิภาคต่างๆ รู้คุณค่าของธรรมชาติ และสามารถดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุล ตลอดจนยังได้ส่งเสริมความปลอดภัยของประชาชนจากโรคภัยไข้เจ็บ และพิษภัยของยาเสพติด ทั้งการป้องกัน ปราบปราม รวมทั้งการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความปลอดภัยในถิ่นฐานบ้านเกิดและชุมชนที่อยู่อาศัย ให้ปราศจากภัยคุกคามต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ด้วยการเข้าร่วมเป็นกำลังประชาชนหรือมวลชนกับ กองทัพบก เพื่อความมั่นคงในชีวิตของประชาชนทุกๆ คน ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าแสดงออกในด้านสิทธิทางการเมือง อย่างมีศักดิ์ศรีที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย ภายใต้พระบรมโพธิสมภารขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นั้นคือสิ่งที่ กองทัพบก ได้น้อมนำพระราชปณิธานขององค์จอมทัพไทย มาปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย เพื่อให้ปลอดจากความขาดแคลนหรือความต้องการ (Freedom From Want) นอกจากนี้ กองทัพบก ยังได้ช่วยเหลือประชาชนให้พ้นทุกข์และปลอดจากความกลัว (Freedom From Fear) จากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมของโลก ซึ่งการดำเนินการที่ กองทัพบก ได้กระทำมานั้น หากวิเคราะห์ดูจากวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของมนุษย์ของ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program :UNDP) ก็จะพบว่าสามารถดำเนินการได้ครบทั้ง 7 ประการ ซึ่งนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการสร้างให้เกิด ความมั่นคงของมนุษย์ทางกายภาพ
ส่วน ความมั่นคงของมนุษย์ทางจิตใจ ในทัศนะของ อมาตยา เซน แล้ว กองทัพบก ยังได้ดำเนินการพัฒนาจิตสำนึกแห่งความจงรักภักดี ความรัก สามัคคี ให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนไทย เพื่อปลุกให้ตื่นจากการหลับใหล และการตกอยู่ในวังวนแห่งความมืดดำของอวิชชาหรือความหลงผิด โดยจัดทำโครงการต่างๆ ที่มุ่งให้สังคมไทยมีสำนึกและส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษาสถาบันหลักของชาติ ซึ่งถือเป็นบทบาทและหน้าที่ของประชาชนทั่วประเทศ ในฐานะการเป็นพลเมืองไทยที่พึงปฏิบัติต่อบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง
จึงอาจกล่าวได้ว่า กองทัพบก ได้ขยายบทบาทและหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติ ไปสู่การรักษาความมั่นคงของมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม (Holistic Human Security) ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดย ปลูกต้นไม้แห่งการพัฒนา ให้กับประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้บริโภคและใช้สอย รวมทั้งยังได้ ปลูกต้นไม้แห่งความจงรักภักดี ให้เกิดขึ้นในจิตใจของปวงชนชาวไทย เพื่อเตรียมความพร้อมของประชาชนให้มีศักยภาพในการร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ ให้ก้าวไปสู่การเป็น ประเทศพัฒนา อย่างมีความสมดุลและยั่งยืน ตามคติยึดมั่นของกองทัพบกที่ว่า “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน”


[1] กรอบแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์. http://www.ryt9.com/s/cabt/27187.

[2] Ronald F. Inglehart Pippa. Norris. (2011). The Four Horsemen of the Apocalypse : Understanding Human Security Faculty Research Working Paper Series. Harvard Kennedy School. (October 2011).
[3] กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (2545). สรุปรายงานการประชุมนานาชาติ เรื่อง สิ่งท้าทายความมั่นคงของมนุษย์ในโลกไร้พรมแดน : Challenges to Human Security. 11 ธันวาคม 2554 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. http://www.m-society.go.th/edoc_detail.php?edocid=110.

วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2552

มายาภาพความขัดแย้งในสังคมไทย

จากสถานการณ์ทางการเมือง ปัญหาบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ทำให้หลายต่อหลายคนคงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประเทศเดินหน้าไปได้ยากเพราะไม่รู้ว่าความวุ่นวายต่างๆจะจบลงเมื่อไหร่ ถ้ามองดูโดยภาพรวมจะพบว่าสถานการณ์กำลังย้อนกลับมาสู่จุดเดิม หมายความว่า ความขัดแย้ง 2 ขั้ว ที่เกิดขึ้นในขณะนี้คล้ายกับสถานการณ์ก่อนที่จะมีการรัฐประหารเมื่อปี 2549 คือ มีการแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว
กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังเหมือนเดิมอยู่ มีความตั้งใจเช่นเดิม จะเห็นว่าเครื่องมือที่เขาใช้ในการโจมตีก็คือเอาเรื่องความจงรักภักดี เอาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการกล่าวหาว่าอีกฝ่ายไม่จงรักภักดียังคงใช้เครื่องมือเหล่านี้เป็นวัตถุที่สำคัญ ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากๆ ต่อความรู้สึกในเรื่องสถาบันของคนส่วนใหญ่ภายในประเทศ
ถ้าวิเคราะห์สถานการณ์ตามแนวความคิดสำคัญของ Marx ในสาระความคิดเกี่ยวกับความขัดแย้ง เรื่องการขัดแย้งเชิงปฏิวัติระหว่างชนชั้นและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความขัดแย้งจะมีลักษณะเป็นสองหลัก (bipolar) ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางสังคมจะแสดงออกถึงความขัดแย้งอยู่ในตัว ดังนั้นการขัดแย้งจึงเป็นลักษณะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการขัดแย้งกันเช่นนั้นมักแสดงออกมาเป็นความสนใจที่ตรงข้ามกันของคนสองพวก ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ “อำนาจ” และท้ายที่สุดการขัดแย้งยังเป็นสิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในระบบสังคม (สัญญา สัญญาวิวัฒน์, 2550, น. 72-76)
การวิเคราะห์ทำความเข้าใจแนวคิดในสังคมไทยนั้นน่าจะมี 2 ขั้วหรือ 2 แนวทาง ซึ่งเป็นเพียงความขัดแย้งของพวกนิยมระบอบทักษิณ และต่อต้านความคิดของระบอบที่เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น ถ้าสร้างมุมมองและความเข้าใจให้ชัดเจนมากขึ้น น่าจะกล่าวได้ว่า “ความขัดแย้งในทฤษฎี 2 ขั้ว ย่อมปรากฏและมีอยู่จริง นี่เป็นสิ่งที่ไม่อาจกล่าวปฏิเสธได้เลย แต่ในท่ามกลางสถานการณ์ที่มีอยู่เช่นนี้ของปฏิปักษ์ 2 ขั้ว ก็ยังมีสภาวะของการครอบงำเป็นบรรยากาศเกี่ยวกับแนวคิดทางประชาธิปไตยแทรกซ้อนอยู่ด้วยก็ได้ และอาจคาดหมายได้ว่า เมื่อสถานการณ์ดำเนินคืบคลานไปถึงจุดหนึ่ง สภาวะขับเคลื่อนและโต้แย้งทางแนวคิดนี้มีโอกาสที่จะพลิกขึ้นมาเป็นปัญหาความขัดแย้งหลักในสังคมไทย
แนวทางอีกลักษณะหนึ่งที่ยืนพื้นและเป็นกระแสหลักต่อสู้ขับเคี่ยวกันอยู่ก็คงได้แก่ ประชาธิปไตยในลักษณะความหมายของ อำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic polity) นี่เป็นแนวคิดที่มีศักยภาพสูงตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.51 ทางฝ่ายรัฐบาลก็พยายามที่จะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความชอบธรรมในเรื่องของหลักประชาธิปไตย การเลือกตั้งต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนภายในประเทศจากความขัดแย้งดังกล่าว ถ้าชนชั้นใดมีอำนาจและได้ตระหนักถึงผลประโยชน์แท้จริงของตนแล้ว การขัดแย้งอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้น (สัญญา สัญญาวิวัฒน์, 2550, น. 82-109) โดยมีพื้นฐานมาจากสภาพความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องในเรื่องของ “อำนาจและผลประโยชน์”
หากพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า ความวุ่นวายรวมถึงขั้นความชิงชังน่าจะมาจากเจ้าสิ่งที่เรียกว่า “สมมติ” นี่เอง
อีกเรื่องที่มนุษย์ยึดติดสมมติคือ “สีเสื้อ” สังคมไทยเวลานี้มีการแบ่งแยก แบ่งเขาแบ่งเรา โดยเอาสีเสื้อหรือสัญลักษณ์อะไรก็แล้วแต่มาเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ยิ่งกว่านั้น บางกลุ่มยังออกมาปราศรัยว่า ต่อไปนี้คนไทยจะอยู่กลางๆ คนเยอรมันเขา “ทุบทำลายกำแพงเบอร์ลิน” เพราะเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งคนออกเป็นสองประเทศ แต่คนไทยกำลังก่อ “กำแพง” แบ่งคนไทยด้วยกันเอง โดยการสร้างกำแพงคุณธรรมกำแพงรักชาติ กำแพงจงรักภักดี ฯลฯ ขึ้นมาเองทั้งสิ้น ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่มีใครทราบว่าใครดีกว่ากัน ใครรักชาติกว่ากัน
มีอีกหลายต่อหลายเรื่องที่มนุษย์สมมติหรืออุปโลกน์กันขึ้นมาเองแล้วมนุษย์ก็บูชาคลั่งไคล้กันเต็มที่ หนักเข้าฆ่ากันตายก็มีกันให้เห็นกันมากมายในอดีต ที่ต่างประเทศก็มีกันให้เห็น สังคมไทยเวลานี้เป็นสังคมที่ใช้สติปัญญาน้อย ใช้กระแส ใช้วาทกรรม ใช้ Motto ฯลฯ กันเยอะมาก ผู้เขียนเข้าใจเองว่าน่าจะเป็นผลมาจากการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ทำให้มีผลลบต่อการรับรู้ (perception) การใช้สติปัญญา การตั้งคำถาม การสงสัยในเรื่องต่างๆ ของคนในสังคม แต่เอาความศรัทธา ความเชื่อ ภาพลักษณ์ มาเป็นสรณะแทน
ทุกวันนี้ การใช้ความรุนแรงในหมู่คนไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากสื่อต่างๆ ที่ถ่ายทอดหรือนำเสนอภาพความรุนแรงที่ใช้จัดการกับคู่กรณีตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล ชุมชน ครอบครัวหรือระดับประเทศ จึงเกิดคำถามขึ้นมากมายว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย? ทำไมเราจึงนิยมเลือกใช้ความรุนแรงกัน? อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเห็นความรุนแรงเป็นเครื่องมือ? เรานิ่งเฉยต่อความรุนแรงที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาเราได้อย่างไร? เหยื่อความรุนแรงที่ล้มหายตายจากไปหรือถูกทำให้หายไปจากสังคมนั้นไม่ใช่มนุษย์เหมือนกับเราหรือ? อะไรกันที่ทำให้ผู้คนอยู่กับความรุนแรงได้อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว? หรือว่าความรุนแรงในฐานะที่เป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมไทยไปเสียแล้ว ?
อีกปัญหาหนึ่ง คือ ความยึดมั่นถือมั่นใน "ตัวเรา" "ตัวเขา" "ของเรา" "ของเขา" นั้น ท่าน ติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนามเห็นว่า เป็นการทำให้มนุษย์ขาดความสามารถที่จะมองเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นเกิดความ "ไม่พยายาม" ที่จะเข้าใจผู้อื่น และไม่เปิดใจกว้างยอมรับซึ่งกันและกัน จนตกเป็นเหยื่อของลัทธิความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งได้อย่างง่ายดาย
ท่านกฤษณะมูรติ นักปราชญ์อินเดีย มองว่า การที่มนุษย์เข้าใจว่าตนสามารถแยกตนและตัดขาดจากมนุษย์และสิ่งอื่นๆ นั้น ถือเป็นความรุนแรงด้วยตัวของมันเอง ซึ่งเหตุที่การแยก "เรา-เขา" เกิดขึ้นได้ ก็เนื่องจากมนุษย์ได้สร้าง "เอกลักษณ์" ขึ้นมาเป็นชุดๆ ภายใต้มายาการแห่ง "เอกลักษณ์” และแล้ว มนุษย์จึงสามารถใช้ความรุนแรงต่อ "ผู้อื่น" ได้ไม่ยากหากเกิดความขัดแย้งขึ้น
และเมื่อนำเอาหลักทฤษฎีความขัดแย้ง มาอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหา ความเป็นมาว่าแท้จริงแล้ว มูลเหตุของความขัดแย้งมิใช่ประเด็นใหม่เลย เพียงแต่ปรับเปลี่ยนบริบททางการเมือง โดยนำเอาปัญหาที่ละเอียดอ่อน อ่อนไหวต่อความรู้สึกนึกคิดรวมทั้งปัญหาการปลุกระดมกระแสชาตินิยม ซึ่งเหล่านี้ หรือกรณีดังกล่าวได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสังคมไทยเรา และอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าบทสรุปของปัญหาเหล่านี้จะมีจุดจบอย่างไร
และในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งมิต้องการให้ประเทศชาติล่มสลาย หรือการเกิดความร้าวฉานในประเทศชาติจนไม่สามารถประคับประคองตนเองได้ แล้วความเป็นรัฐชาติไทยเราจะเหลืออะไร จะก้าวไปในทิศทางไฉน ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยเราจะไม่รุนแรงถึงขั้นนองเลือดเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพียงเพราะเราทุกคนเข้าใจในบทบาท หน้าที่ของพลเมืองที่ดี มีความสามัคคีกันเพื่อที่จะฟันฝ่าอุปสรรคที่มีให้ประเทศชาติมีความเจริญรุดหน้า เทียบเท่านานาอารยะประเทศ
และเราชาวไทยทั้งหลาย ควรช่วยกันพัฒนาความสามารถในการมองให้เห็นถึงธรรมชาติที่แท้ของสรรพสิ่ง โดยเริ่มจากการพัฒนาความสามารถในการเห็น และเข้าใจ ถึงความเป็นมนุษย์ของทุกคนที่มีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน แล้วจึงแผ่ขยายลึกซึ้งไปถึงสรรพสัตว์และธรรมชาติ เพื่อที่ในที่สุดความเมตตาและความรักจักผลิบานขึ้นในจิตใจของเรา และเราจะตระหนักได้ว่า ผู้ที่เรากล่าวกันว่าเป็นศัตรูนั้น แท้จริงมิใช่ศัตรู ทั้งหมดเป็นเพียงมายาหรือภาพลวงตา ที่เกิดจากความงมงายของเราต่อลัทธิใดลัทธิหนึ่งเท่านั้นเอง

จากยุทธศาสตร์พระราชทาน สู่งบประมาณชีวิต

จากพระปณิธานที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” ซึ่งได้ทรงแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมต่อสังคมไทยตลอดมา ประชาชนไทยทุกคนล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณถ้วนทั่วหน้า จากการได้อาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินไทยอย่างร่มเย็นผาสุข และที่สำคัญ คือ ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกระดับ อันเป็นวิถีแห่งการดำรงอยู่ที่ประเสริฐสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย นำไปสู่ที่มาของแนวคิดและแนวปฏิบัติอันเป็นที่รับทราบกันดีในประเทศหรือแม้กระทั่งในระดับนานาชาติ ในนาม ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy)
พระปรีชาญาณดังกล่าว ได้รับการถวายพระเกียรติอย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะจากองค์กรหลักของโลก คือ สหประชาชาติ ได้ร่วมถวายพระเกียรติอย่างชัดเจนในฐานะที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนับเป็นแนวทางที่นำสู่การพัฒนาที่แท้จริงที่สุด คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นั่นเอง
จากสาระของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เผยแพร่ได้ในปี พ.ศ.2542 แล้วนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2547) ได้สรุปออกมาเป็น 3คุณลักษณะ (ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว) 2 เงื่อนไข (คุณธรรม และความรู้) และ 3 เป้าหมาย (สมดุล มั่นคง ยั่งยืน)
โดยนัยแห่งความสัมพันธ์ของทุกองค์ประกอบในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ทุกองค์ประกอบสามารถที่จะแสดงความเชื่อมโยงกันได้ และเป็นกรอบปรัชญาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็น แนวทางดำรงอยู่แนวปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึง ความจำเป็นที่จะต้อง มีระบบคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัสเพิ่มเติมในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะน้อมเกล้าฯ นำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้พอสังเขป ดังนี้
“...คำว่าพอเพียงมีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอใช้สำหรับใช้ของตัวเอง มีความหมายว่าพอมีพอกิน...พอมีพอกินนี้ ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง...”
“...ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ก็ทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำสมควรที่จะปฏิบัติ...”
“...Self-sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง...”
“...คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข...”
โดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ “การปลูกผักกินหญ้า” แต่เป็นแนวทางของประเทศ และผู้คนที่จะคิดหาหนทางสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ โดยสามารถนำไปสานต่อการลงทุนที่ชาญฉลาด เพื่อพัฒนาประเทศที่มั่นคงยั่งยืน ให้รอดพ้นจากภัย และวิกฤติ นอกจากนี้ ปรัญชาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ปฏิเสธการเป็นหนี้สิน การกู้ยืมเงิน แต่เน้นการบริหารความเสี่ยง คือ แม้ว่าจะกู้ยืมเงินมาลงทุน ก็เพื่อดำเนินกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากจนเกินไป แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ห้ามไม่ให้ลงทุนหรือขยายธุรกิจ แต่เน้นให้ทำธุรกิจที่ไม่ให้เสี่ยงมากเกินไปควรลงทุนให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง
จากที่กล่าวมาข้างต้น เราทุกคนสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเปรียบประดุจ ยุทธศาสตร์พระราชทาน ที่มอบให้กับประชาชนชาวไทยทั้งแผ่นดิน มาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดมงคลแก่ตัว และความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนในครัวเรือน อันเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศไทย โดยมุ่งกระทำในสิ่งต่อไปนี้
ความพอประมาณ (ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไปหรือไม่มากเกินไป)
1. ยึดหลักประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในทุกด้าน ลด ละ ความฟุ่มเฟื่อยในการดำรงชีวิต
2. ประหยัดพลังงานในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้กระแสไฟฟ้าภายในบ้าน และการใช้น้ำมัน
3. ควบคุมค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง หรือของฟุ่มเฟือยทั้งหลายตัดได้ตัดเลยพยายามทำให้มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
4. จับจ่ายใช้จ่ายอย่างประหยัด บริโภคให้น้อยลงและซื้อเท่าที่จำเป็นเพราะราคาสินค้ามีโอกาสแพงขึ้นตามต้นทุนการผลิต
ความมีเหตุผล (การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียง)
1. ระมัดระวังการใช้บัตรเครดิต เพราะบัตรเครดิต คือ บัตรที่ ให้ใช้ก่อน จ่ายทีหลัง สร้างความสะดวกสบายให้คนใช้ก็จริงอยู่ แต่ความสะดวกสบายมักตามมาด้วยหนี้ก้อนโต ที่มักเกิดขึ้นง่ายที่สุดหากใช้บัตรเครดิตอย่างขาดสติ
2. หยุดสร้างภาระหนี้เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีหนี้ก้อนเก่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ สินเชื่อบุคคล ยิ่งต้องหยุดสร้างหนี้เพิ่มอย่างเด็ดขาด
3. หมั่นบันทึกและทบทวนรายรับรายจ่าย เพื่อจะได้รู้สถานการณ์อยู่ตลอดเวลานี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้การบริหารงบประมาณรายรับรายจ่ายได้อย่างแม่นยำและนำไปสู่การวางแผนการเงินที่ดีได้
การมีภูมิคุ้มกัน (การเตรียมตัวให้พร้อมรับกับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ)
1. พยายามหาช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเพราะหนึ่งในหนทางในการรับมือกับภาวะสินค้ามีราคาแพงขึ้น ไม่เพียงคุมค่าใช้จ่ายด้านเดียว ในเวลาเดียวกันต้องมองหาช่องทางการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินไปลงทุนในช่องทางต่างๆ หรือการหารายได้เสริมจากงานพิเศษ
2. การออม ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่จะทำให้บุคคลหนึ่งบรรลุถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ในอนาคต ทั้งในรูปแบบของประกันชีวิต การฝากเงินไว้กับธนาคาร และการออมในรูปแบบอื่นๆ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิตในระยะยาว
3. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลด ละ สิ่งชั่วร้ายให้หมดสิ้นไป
4. ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ให้ยั่งยืน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับทั้งประเทศ และลูกหลานของเรา อาทิ การปลูกต้นไม้ เพื่อลดภาวะโลกร้อน การแสวงหาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ เช่นพลังงานจากไบโอดีเซล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น ซึ่งต้องรีบดำเนินการ เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา
เงื่อนไขความรู้ (รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตตนเองหลุดพ้นจากความทุกข์ โดยขวนขวายหาความรู้ ในแขนงต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิดรายได้เพิ่มพูนจนถึงขั้นพอเพียง
เงื่อนไขคุณธรรม (ซื่อสัตย์สุจริต สติปัญญา ขยันอดทน แบ่งปัน) ประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพ ลดละเลิก การแก่งแย่งผลประโยชน์ที่รุนแรงและไม่ถูกต้อง คำนึงถึงการแบ่งปันและการช่วยเหลือสังคม นอกเหนือจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราในฐานะเครือญาติ
และหากทุกครัวเรือนสามารถกระทำในสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นโดย ดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จะเกิดผลและนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขของคนไทย คือ
1.การดำรงชีวิตที่สมดุลมีความสุขตามอัตภาพ
2.การพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองและประเทศชาติมั่นคง
3.การอยู่ร่วมกันในสังคมเกิดวามเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
4. ความสมดุลของทรัพยากรทางธรรมชาติ
นอกเหนือจากนั้น ยังเป็นการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่พึ่งปรารถนา ดังต่อไปนี้
สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน เป็นสังคมที่มองเห็นความทุกข์และความสุขของคนอื่นร่วมกัน มีความเอื้ออาทร ไม่นิ่งดูดายเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์
สังคมที่เข้มแข็ง เป็นสังคมที่มีชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ถาคประชาสังคมเข้มแข็ง ตามลักษณะของภูมินิเวศ และกลุ่มคน
สังคมคุณธรรม เป็นสังคมที่เป็นปึกแผ่น ร่วมเย็นเป็นสุข โดยการใช้ศาสนธรรมมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำในชุมชน แม้จะมีความแตกต่างกันของการนับถือศาสนา แต่ก็เคารพคุณค่าระหว่างกัน มีความเข้าใจกันระหว่างศาสนา และหลีกหนีออกจากวัตถุนิยม
สังคมประชาธิปไตย เป็นสังคมที่ประชาชนมีส่วนในการกำหนดกลไกต่างๆ ทางสังคม มีความเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่รูปธรรมหรือตามกฏหมาย แต่ประชาชนต้องเป็นผู้มีบทบาทในเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่กำหนดว่าให้มีการเลือกตั้งแล้วบอกว่า นี่แหละประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะการเลือกตั้งเป็นแค่กระบวนการส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ไม่ใช่สาระสำคัญเหนือกว่าการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย
ทั้งหมดนี้ จะเป็นปฏิบัติบูชาที่มีคุณค่ายิ่งต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีสิ่งอื่นใดจะยิ่งใหญ่กว่านี้อีกแล้ว หากเราช่วยกันขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้สังคมทุกภาคส่วนได้นำไปใช้ จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง และประเทศชาติในระยะยาวอย่างยั่งยืนสืบไป

ปฏิวัติความขัดแย้ง

ปัจจุบันสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ รวมทั้งพฤติกรรมของคนในสังคม การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นธรรมดาที่จะเกิดความขัดแย้งต่างๆ มากกว่าปกติ เนื่องจากมีการปรับตัว ปรับทัศนคติ จากฝ่ายต่างๆ ทั้ง ประชาชน และหน่วยงานของรัฐในอัตราส่วนที่ไม่เท่ากัน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างมีคุณภาพก็เกิดขึ้นได้ยาก ในเมื่อหลายๆ ปัญหาต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะในการแก้ไข ดังนั้น ความซับซ้อนของปัญหาจึงเพิ่มมากขึ้น การอยู่ร่วมกันบนสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นสิ่งท้าทายต่อสังคมไทยในอนาคตเป็นอย่างมาก
จากเหตุการณ์ “การชุมนุมของประชาชน” ที่เป็นประเด็นร้อนของสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความแตกต่างทางความคิด ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกของคนไทยด้วยกันมากขึ้นทุกชั่วขณะ แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะหากย้อนรอยถึงความเป็นไปในอดีตที่ผ่านมาของวิถีทางทางการเมืองการปกครองของไทย ก็อาจเปรียบ “การชุมนุม” และ “ระบอบประชาธิปไตย” เป็นเสมือน “คู่รักคู่รส” กันก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นหนทางหนึ่งของการแสดงออก เพื่อเรียกร้องการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง หรือเป็นการทวงสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนสามารถกระทำได้โดยไม่มีความผิดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการมากที่สุด
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การชุมนุมดังกล่าวก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย จึงจะถือเป็นวิถีทางของกระบวนการทางประชาธิปไตย ที่แม้จะก่อให้เกิด “ความขัดแย้ง” ในสังคม แต่ในเชิง “ทฤษฎีความขัดแย้ง” (Conflict Theory) แล้ว ความขัดแย้งก่อให้เกิดผลทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ และความขัดแย้งยังเป็นกระบวนการที่สำคัญในการขัดเกลาสังคม และไม่มีสังคมใดที่จะมีความสมานสามัคคีอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิด และความขัดแย้งก็เป็นสภาวะหนึ่งของมนุษย์ ที่ภาวะทางอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นความเกลียดหรือความรักต่างก็มีความขัดแย้งด้วยกันทั้งสิ้น
และในมุมกลับกัน ก็มองได้ว่าการชุมนุมดังกล่าว เป็น “ปรากฏการณ์ชุมนุม” ที่มีความสุ่มเสี่ยงอันจะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ นอกจากนั้นยังเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ถึงความแตกแยกที่นับวันจะร้าวลึกลงไปเรื่อยๆ ของสังคมไทย และเป็นภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมของความขัดแย้งของประชาชน อันมีผลสืบเนื่องมาจากสิทธิเสรีภาพที่ได้รับจากระบอบประชาธิปไตย ซึ่งย่อมส่งผลถึงประเทศชาติอย่างแน่นอนในด้านภาพลักษณ์ที่มีต่อสายตาของนานาอารยะประเทศ
บางคนอาจมีทัศนะว่าคงเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรง หรือเชื่อว่าต้องปล่อยให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้จริง แต่ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า ประเทศไทยได้ผ่านพ้นความขัดแย้งในอดีตมาก็หลายครั้ง เกิดความบอบช้ำของสังคมไทยมาก็หลายหน และทุกๆ ความขัดแย้งจะยุติลงได้ด้วยพระเมตตาขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ “พ่อของแผ่นดิน” ที่ทรงเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยให้คู่กรณี หรือลูกๆ เลิกทะเลาะและหันหน้าเข้าหากัน ถึงแม้สาเหตุของความขัดแย้งจะไม่ได้รับการแก้ไข แต่ก็ส่งผลให้สันติสุขกลับคืนมาสู่บ้านหลังใหญ่ของชาวไทยในทุกๆ ครั้ง และจากประสบการณ์การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้สังคมไทยได้เรียนรู้มากขึ้นว่า ถ้าเราใช้ปัญญาให้มากขึ้น และมุ่งมั่นที่จะทำสันติวิธีให้เป็นยุทธศาสตร์ของชาติ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การปรับหางเสือของสังคมไทย และนี่แหละที่จะเป็นหน้าเป็นตาของชาติไทย "หน้าตา"ของชาติไทย ไม่ใช่ตึกสูงงดงาม หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยหากแต่อยู่ที่ คนไทยและสังคมไทย ที่เผชิญกับความขัดแย้ง โดยที่คู่กรณีเริ่มต้นแก้ไขความขัดแย้งด้วยการเข้าใจซึ่งกันและกัน ดังที่ Arthur Gladstone กล่าวไว้ว่า “แทนที่จะปรักปรำความผิดกัน แต่หันมารับผิดชอบร่วมกันเสีย” ก็จะสามารถขจัดปัญหาความขัดแย้งให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยได้
และหากทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่ล้วนแล้วแต่เป็น “คนไทย” ด้วยกันทั้งสิ้น เห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมืองกันอย่างแท้จริง ก็ไม่ควรปล่อยให้ความรู้สึกส่วนตัวมาชี้นำ ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม และต้องรู้ว่าอะไรควรและอะไรไม่ควรกระทำต่อประเทศชาติ สังคมไทยก็จะสามารถผ่านพ้นช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ไปได้ โดยไม่บอบช้ำ หรือเกิดความเจ็บปวดแก่สังคมมากจนเกินไป อย่างเช่น ที่เคยเกิดกับสังคมอื่นที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ในอดีต หรือที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับเรา
จึงถึงเวลาแล้ว ที่ชาวไทยทุกคนจะต้องหันหน้าเข้าหากัน และร่วมกันแก้ไขปัญหาของประเทศชาติให้ลุล่วง รวมทั้งร่วมกันทำให้ประโยคที่พูดกันจนชินหูว่า “รักพ่ออย่าทะเลาะกัน” ให้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแค่เพียงลมที่เป่าออกมาจากปากของแต่ละคน
และจะไม่มีสิ่งใดจะมาแผ้วพลาญชาติไทยได้ หากชาวไทยทุกคนสำนึกใน “รู้รัก สามัคคี ทำความดีเพื่อแผ่นดิน” ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราชาวไทยทุกคนจะต้องร่วมใจกัน ปฏิวัติความขัดแย้ง และถอนรากเหง้าของความรุนแรง ให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย เพื่อสันติสุข เพื่อความศิวิไล ของชาติไทย...กันเสียที